xs
xsm
sm
md
lg

“คอนเทนต์” สำคัญไม่แพ้ “ทุน” ชี้อนาคต “ทีวีดิจิตอล” อยู่หรือไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ลุ้นแผนเยียวยาทีวีดิจิตอล ยืดเวลาจ่ายสัมปทานดีจริงหรือไม่ ชี้สุดท้ายคงอยู่ไม่เกิน 10 ช่อง “โมโน 29” พร้อมเดินหน้าสู้ตามแผน ยันคอนเทนต์ยังสำคัญไม่แพ้เงินทุนว่าอยู่หรือไป

จากการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนหน้านี้ โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือ จากทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในมาตรการให้พักชำระหนี้ค่าสัมปทานเป็นเวลา 3 ปี โดยผู้ที่จะยื่นเรื่องพักชำระหนี้จะต้องยื่นต่อคณะกรรมการ กสทช.ภายใน 30 วัน เเละต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และลดค่าเช่าโครงข่าย (มัค) ลง 50% เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44

นายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาสท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ผู้บริหารช่องโมโน 29 เปิดเผยว่า ความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นครั้งนี้มองว่าในภาพรวมทิศทางธุรกิจทีวีดิจิตอลยังคงต้องเดินหน้ากันด้วยความพร้อมของคอนเทนต์และคนดูเหมือนเดิม เช่นเดียวกับช่องโมโน 29 ที่ยังเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ ส่วนการผ่อนผันค่าสัมปทานมองว่าเป็นการช่วยผู้ประกอบการทางอ้อม เป็นเพียงการยืดระยะเวลาออกไปเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ต้องจ่ายค่าสัมปทานอยู่ดี

“การช่วยเหลือ ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรม การเปิดโอกาสให้ช่องที่มีความพร้อมได้ขยายสัญญาณ SD ไปเป็น HD ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้ชมคนไทยทั่วประเทศ หรือการยืดเวลาสัมปทานออกไป ถ้าเป็นไปได้ก็จะดี แต่มองเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรอยากให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่า กสทช.ต้องพิจารณาถึงจุดนี้อยู่แล้ว”

ส่วนการขอยกเลิกสัมปทานนั้น ต้องดูจากศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าออกมาในทิศทางเดียวกันมองว่าน่าจะมีช่องที่ขอยกเลิกสัมปทานหลายช่อง โดยเฉพาะช่องเด็กและช่องข่าว คิดว่าน่าจะเหลือช่องประมาณ 10 ช่อง เพราะช่องที่นำเสนอข่าวมีมากถึง 7 ช่อง บวกกับต้องมาแชร์กับช่องอื่นที่กำหนดให้มีการนำเสนอข่าวอีก 25% ช่องข่าวน่าจะหนักสุด

สอดคล้องกับทางโมเดิร์นไนน์ โดยนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพักชำระหนี้ 3 ปีส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในแง่ที่ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนมากเกินไป และทำให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นว่าหลังจากนี้ควรจะหยุดหรือจะไปต่อ ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วจำนวนช่องที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 10-15 ช่อง จากทั้งหมด 24 ช่องที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากออนไลน์เข้ามา และผู้ชมไม่ได้ดูจากจอทีวีเป็นหลักอีกต่อไป ซึ่งคงไม่สามารถตอบได้ว่าช่องใดจะหายไป ขึ้นอยู่กับความสามารถและการตัดสินใจของแต่ละช่องเป็นหลัก

มองว่ามาตรการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลพักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตภายในเวลา 3 ปีนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทีวีดิจิตอลโดยรวม เพราะผู้ประกอบการจะได้หายใจคล่องขึ้น ในการนำเงินนั้นไปพัฒนาคอนเทนต์และดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น ซึ่งพอที่จะช่วยให้เกิดรายได้ที่ดีตามมา นอกจากนี้ยังมองว่าผลดีทางอ้อมจะทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดีขึ้นเช่นกัน เพราะหากคอนเทนต์ดี มีเรตติ้ง ลูกค้าก็พร้อมใช้เงินซื้อโฆษณา ที่สำคัญเป็นช่วงเวลาที่จะทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้คิดและตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไปในอุตสาหกรรมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น