xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. ยื่นอุทธรณ์ “เจ๊ติ๋ม” ภายใน 3 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ด กสทช. ลงมติอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แจงไม่เห็นด้วยใน 3 ประเด็น มั่นใจ กสทช. ทำดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างปฏิบัติตามหลักสากล ไม่เช่นนั้นคงล้มเหลวกันทุกราย ย้ำที่ผ่านมา ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการมาตลอด ยืนยันทำรายการทีวีไม่ใช่ง่ายที่จะมีประสิทธิภาพกันทุกคน

พ.อ. นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติน้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ที่มีคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้อง กสทช. และยินดีที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องคำพิพากษาและวินิจฉัยบางส่วน แต่มติที่ประชุมจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

เนื่องจาก กสทช. มีความเห็นแย้งใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการให้ใบอนุญาตของ กสทช. เป็นการออกใบอนุญาตเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมการงานกับรัฐ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ การร่วมการงาน หมายถึงระบบสัญญาสัมปทาน ขณะที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้น ในส่วนนี้จึงน่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้ง กสทช. ดังนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลับไปสู่ระบบสัญญาสัมปทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ 2 คือ คำวินิจฉัยที่ระบุว่า กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายการให้บริการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ หรือการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ไม่เป็นไปตามสัญญาตามนั้น ตนคิดว่า ศาลปกครองกลางเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ การขยายสัญญาโครงข่ายได้ออกประกาศให้ครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ 50% หลังจากนั้น อีก 1 ปี ครอบคลุม 80% ปีที่ 3 ครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากร และปีที่ 4 ครอบคลุม 95% เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ถือว่า กสทช. ได้มีการกำกับให้มีการขยายโครงข่ายให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนดทุกประการ

“ทางไทยทีวี ระบุว่า โครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์มีความล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายได้ตามแผนนั้น ความจริงแล้ว กรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ให้บริการโครงข่ายกับผู้ประกอบการรายใดเลย และเมื่อติดตั้งล่าช้า ก็ได้มีการลงโทษทางปกครองไปแล้ว ประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงที่มีการกำหนดว่า การขยายโครงข่ายในแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการให้มีความครอบคลุมอย่างไร การขยายโครงข่ายได้เป็นไปตามกำหนดไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการทุกรายคงล้มเหลวในการให้บริการหมดแล้วสำหรับการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลก็ได้มีการดำเนินการจนครบทั้งหมดแล้ว ซึ่งการแจกคูปองต้องเป็นไปตามแผนการขยายโครงข่ายที่สากลทำกัน”

พ.อ. นที กล่าวว่า ในส่วนของการชำระค่าใบอนุญาตนั้น ตามหลักเกณฑ์การประมูล ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตตามกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ระบุว่าต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทั้งหมด แต่ กสทช. มีการผ่อนปรนให้ด้วยการให้แบ่งชำระค่าใบอนุญาตได้ และมีการนำหนังสือรับรองมาค้ำประกัน

ทั้งนี้ กสทช.ไม่มีความกังวลใด ๆ หากช่องทีวีดิจิทัลอื่น ๆ จะดำเนินตามช่องไทยทีวี เพราะขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่า ผลสุดท้ายของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่เข้าใจว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในครั้งนี้ถึงออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็น้อมรับในคำวินิจฉัยของศาล

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กสทช. มีมาตรการในการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีต้นทุนที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมัสต์แคร์รี ที่มีการจ่ายค่านำสัญญาณขึ้นดาวเทียมให้กับทุกช่อง เพราะท้ายสุดแล้ว กสทช. มองว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ ประชาชน ที่จะสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง กสทช. มองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในธุรกิจของทีวีต้องยอมรับว่าทำยาก ความสำเร็จและประสิทธิภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เท่ากัน การที่เขาเข้ามาประมูลในช่องข่าว ก็ต้องยอมรับว่า กลุ่มช่องข่าว จะมีรายได้แบบนี้ การเข้ามาสู่ธุรกิจทีวีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีประสิทธิภาพถึงจะแข่งขันได้

ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. กล่าวว่า หากผู้ประกอบการรายใดต้องการเดินตามโมเดลของไทยทีวี คิดว่าก็ต้องดำเนินการฟ้องศาลเหมือนที่ไทยทีวีทำ เพราะ กสทช. ได้อุทธรณ์ และคดียังไม่มีการตัดสินถึงที่สุด ส่วนประเด็นที่ว่า การที่ศาลปกครองกลางตัดสินว่า กสทช. ไม่ดำเนินการตามสัญญาที่มีต่อผู้ประกอบการนั้น จะนำไปสู่ช่องทางให้คนอื่นฟ้อง กสทช. ฐานละเลยปฎิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 หรือไม่นั้น ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ แต่ กสทช. ก็ยังคงยืนยันตามประเด็นที่ พ.อ. นที ได้กล่าวไว้ข้างต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น