ผู้จัดการรายวัน 360 - ชี้ 3 แนวทางช่วยเหลือทีวีดิจิตอลผ่าน ม.44 ช่วยผู้ประกอบการมีความหวัง แต่ยังคลุมเครือขอรายละเอียดที่ชัดเจน “อสมท” หวังแนวทางช่วยเหลือค่าโครงข่ายอุ้มผู้ให้บริการโครงข่าย “โมโน 29” ขอรอดูความชัดเจนอีกครั้ง
จากการที่ คสช.มีมติสรุปแนวทางในการช่วยเหลือทีวีดิจิตอลเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา คือ 1. อนุญาตให้พักชำระหนี้ได้ 3 งวด ใน 5 งวดที่เหลือในปี 61, 62, 63, 64, 65 เพื่อมีกำลังเก็บเงินไว้ทำธุรกิจให้เกิดสภาพคล่อง แต่การพักชำระหนี้ 3 งวดจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 1.5% ขณะที่ค่าเครือข่ายแอนะล็อกของทีวีที่เปลี่ยนเป็นดิจิตอลที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่ 4 เจ้า คือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กสทช.จะช่วยจ่ายค่าเครือข่ายให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี และอนุญาตให้โอนใบอนุญาตได้ หากมีผู้สนใจอยากขอซื้อต่อก็สามารถโอนกิจการได้ ทั้งนี้จะออกมาตรา 44 ในเรื่องดังกล่าวในอีก 1-2 วันนั้น
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ คสช.ที่เตรียมออก ม.44 กับ 3 แนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนั้น มองว่า 1. แนวทางการอนุญาตให้พักชำระหนี้ได้ 3 งวด ใน 5 งวดที่เหลือในปี 61-65 เพื่อมีกำลังเก็บเงินไว้ทำธุรกิจให้เกิดสภาพคล่อง แต่การพักชำระหนี้ 3 งวดจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 1.5% นั้น มองว่ามาตรการแรกนี้เป็นผลดีจริง เห็นจากพอมีข่าวออกมาหุ้นของกลุ่มทีวีดิจิตอลดีขึ้น ถือเป็นการเห็นปัญหาความเดือดร้อนจริงที่รัฐบาลพร้อมเข้าช่วยเหลือ หลังจากที่ผู้ประกอบการนำใบอนุญาตไปขอกู้แบงก์ไม่ได้ เพราะทางแบงก์มองใบอนุญาตด้อยค่าอีกต่อไปแล้ว หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละช่องในการวางแผนการดำเนินงานหลังจากได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น และอาจจะมีทั้งยอมจ่ายต่อเนื่อง และพักชำระหนี้พร้อมยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ขึ้นอยู่กับโพซิชันนิ่งของแต่ละช่อง
2. แนวทางเกี่ยวกับค่าโครงข่าย กสทช.จะช่วยจ่ายค่าเครือข่ายให้ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% เป็นเวลา 2 ปี เป็นมาตรการที่ยังต้องรอดูรายละเอียดความชัดเจนมากกว่านี้ เบื้องต้นมองว่าเป็นผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการทีวีดิตอลและผู้ให้บริการโครงข่ายทั้ง 4 ราย แต่ในความช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น จำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ นำมาคิดคำนวณด้วยหรือไม่
3. แนวทางการอนุญาตให้โอนใบอนุญาตได้ หากมีผู้สนใจอยากขอซื้อต่อก็สามารถโอนกิจการได้นั้น ปัจจุบันหลายๆ ช่องได้มีกลุ่มทุนเข้าไปให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว ซึ่งมาตรการความช่วยเหลือในข้อนี้ต้องลงลึกรายละเอียดให้ชัดเจนว่าสามารถโอนใบอนุญาตได้นั้นหมายถึงสามารถเปลี่ยนได้ในระดับคู่สัญญาเลยหรือไม่
“เป็นเรื่องปกติที่กลุ่มทุนระดับมหาเศรษฐีต้องการที่จะเป็นเจ้าของสื่อ จากที่มีธุรกิจอื่นๆ อยู่ในมือ อย่างที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งในไทยเองก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นทีวีดิจิตอลจึงยังเป็นธุรกิจที่นักลงทุนสนใจเป็นเจ้าของ แม้ว่าสถานการณ์ทีวีดิจิตอลจะได้รับความเดือดร้อน”
นายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาศท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ผู้บริหารช่อง โมโน 29 ระบุว่า ข้อมูลที่ออกมายังไม่ถึงที่สุด สุดท้ายยังต้องรอจนกว่าจะมีคำสั่งออกมาจริงๆ จึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้
ก่อนหน้านี้ นายนวมินทร์เคยให้ความเห็นไว้ว่า “การช่วยเหลือ ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรม การเปิดโอกาสให้ช่องที่มีความพร้อมได้ขยายสัญญาณ SD ไปเป็น HD ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้ชมคนไทยทั่วประเทศ หรือการยืดเวลาสัมปทานออกไป ถ้าเป็นไปได้ก็จะดี แต่มองเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร อยากให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่า กสทช.ต้องพิจารณาถึงจุดนี้อยู่แล้ว”