“อุตตม” จับมือเมติเร่งพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) ด้านนวัตกรรม หวังชูไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมใหม่ในภูมิภาค ผุดโครงการ Open Innovation Columbus คัด 30 สตาร์ทอัพเชื่อมญี่ปุ่น 60 บิ๊กบราเธอร์ญี่ปุ่นจับคู่เอสเอ็มอีไทยพัฒนาเข้าถึงเทคโนโลยี และพัฒนาหลักสูตรปั้นบุคลากรให้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดเห็นรูปธรรมไตรมาส 2 ด้าน รมว.เมติจ่อบินมาติดตามความคืบหน้า พ.ค.นี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ว่า ทูตญี่ปุ่นได้แจ้งความคืบหน้าการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไทยได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) แล้วก่อนหน้านี้ 3 โครงการซึ่งจะเห็นผลรูปธรรมในไตรมาส 2 นี้ ได้แก่ 1. โครงการ Open Innovation Columbus ซึ่งเป็นโครงการที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (startup) ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือกับธุรกิจ startup ในประเทศไทยพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมใหม่ (New Innovation Hub) ของภูมิภาคอาเซียนนอกประเทศญี่ปุ่น
“โครงการ Open Innovation Columbus เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกสิ่ง (Internet of Things) หรือ IoT มาใช้ในธุรกิจ เพื่อที่จะใช้ไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งทีมงานร่วมกันแล้ว ซึ่งทางญี่ปุ่นขอให้ไทยคัดเลือกผู้ประกอบการรายใหม่ที่น่าจะเข้าข่ายนำร่องเบื้องต้น 30 ราย และทางญี่ปุ่นจะมาพิจารณาเลือกผู้ประกอบการใหม่ของญี่ปุ่นมาจับคู่กับไทย” นายอุตตมกล่าว
ทั้งนี้ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) จะเดินทางมาไทยประมาณ พ.ค.นี้เพื่อประชุมโต๊ะกลมร่วมกับไทยในการติดตามความคืบหน้านโยบาย Connected Industries ซึ่งก็คล้ายกับอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาสตาร์ทอัพดังกล่าวฝ่ายไทยจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะจัดแพกเกจส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาด้วย
2. โครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) ที่จะเชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีญี่ปุ่นและเอสเอ็มอีไทยในการเข้าถึงเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ CLMVT และออกสู่เวทีโลกต่อไป โดยทางญี่ปุ่นคัดเลือก 60 บริษัทเป็นบิ๊กบราเธอร์เข้ามาช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอีไทย ภายใต้โครงการ Lean Automation System Integrator (LASIs) ขณะที่ไทยโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คัดเลือกผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการนี้ 33 บริษัท จาก 11 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. พร้อมเชื่อมกับโครงการยกผลิตภาพของเอสเอ็มอีไทยเป้าหมายรวม 10,000 กิจการ
3. โครงการ Flex Campus จะเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการไทยตามแนวประชารัฐที่จะร่วมกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มุ่งสู่การเข้าถึงเทคโนโลยีให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีองค์กรจากญี่ปุ่นสนใจประมาณ 40-50 ราย โดยจะเป็นการเสนอหลักสูตรพัฒนาปีต่อปี โดยปีแรกจะเริ่มในปีนี้ที่จะสอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ด้าน IoT ที่ญี่ปุ่นจะมาเพิ่มเติมในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาไทยโดยผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการนำผู้ประกอบการเข้าร่วม