กนอ.จับมือ BCPG ศึกษาแผนพัฒนาพลังงานในนิคมฯ สมาร์ทปาร์กภายใน 3 เดือนนี้ สรุปแผนลงทุนและรูปแบบการลงทุนชัดเจนที่อาจจะเปิดเป็นรูปแบบ PPP หรือเอกชนลงทุนเองทั้งหมด แย้มเบื้องต้นจากการประเมินศักยภาพพัฒนาโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำได้ประมาณ 60-100 เมกะวัตต์ ลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร หรือสมาร์ทกริด (Smart Grid) ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก จ.ระยอง ที่จะมีการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำกำลังผลิตประมาณ 60-100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปถึงแนวทางการพัฒนาและการลงทุนที่ชัดเจนภายใน 3 เดือน จากนั้นจะนำเสนอบอร์ด กนอ.ให้พิจารณาดำเนินการต่อไป
“นิคมฯ สมาร์ทปาร์ก จ.ระยอง จะเน้นรองรับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์กเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยสมาร์ทเอนเนอร์ยีจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผสมกับการใช้พลังงานทางเลือกเข้ามา เพราะเรามีอ่างเก็บน้ำที่จะสามารถติดตั้งโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำได้ และยังมีหลังคาโรงงานในพื้นที่ในการนำมาพัฒนาติดตั้ง ดังนั้น โรงงานก็เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้ซื้อ ใครผลิตเกินก็เหลือขายได้ สามารถแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากันได้ในนิคมฯ ผ่านระบบสมาร์ทกริด แนวคิดนี้ก็จะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดการลงทุนโรงไฟฟ้าลง” นายวีรพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ในนิคมฯ สมาร์ทปาร์กนั้นมีอ่างเก็บน้ำประมาณ 200 ไร่ มีพื้นที่โรงงานประมาณ 1,000 ไร่ โดยใน 10 ไร่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) รวมได้ประมาณ 1 เมกะวัตต์ จึงประเมินว่าจะมีการพัฒนาผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 60-100 เมกะวัตต์ เม็ดเงินลงทุนเมกะวัตต์ละ 40 ล้านบาท หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คงจะต้องรอผลการศึกษาให้ชัดเจนก่อนจึงจะทราบได้ว่าจะมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจำนวนเท่าใดแน่ รวมถึงรูปแบบที่อาจจะเป็นการเปิดให้เป็นความร่วมมือการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) หรือจะให้เอกชนลงทุนพัฒนาทั้งหมด
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์กบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีการออกแบบพื้นที่โครงการและจัดสรรสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ เน้นรองรับโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเทคโนโลยีและระบบดิจิตอลที่ชาญฉลาด โดยคาดว่าจะเริ่มพัฒนานิคมฯ ได้ในปี 2562 และเปิดบริการได้ในปี 2564 โดยมีพันธมิตรต่างๆ ร่วมดำเนินงานพัฒนาในแต่ละด้านที่จะสรุปแนวทางภายในปี 2561 ที่ได้ลงนามไปแล้ว 6 หน่วยงานพันธมิตร โดย BCPG เป็น 1 ใน 6 พันธมิตรที่จะร่วมกันพัฒนานิคมฯ