“กระทรวงอุตสาหกรรม” ชง ครม.สัปดาห์หน้าดันมาตรการยกระดับผลิตภาพเอสเอ็มอี ตั้งเป้า 3 ปี ลดต้นทุนให้เอสเอ็มอี 5 หมื่นราย ถก กกร.จันทร์หน้าช่วยคัดรายเล็กที่มีศักยภาพร่วมโครงการ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอมาตรการพัฒนาผลิตภาพ (โปรดักทิวิตี้) เอสเอ็มอี 4.0 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 30 ม.ค.นี้ โดยจะจัดทำเป็นแผนตลอดทั้งโครงการในระยะเวลา 3 ปี (2561-2563) เพื่อยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ 5 หมื่นราย ให้มีความสามารถในการแข่งขัน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ดูแลต้นทุนของเอสเอ็มอีให้ต่ำลง ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยเชื่อมโยงกับกองทุนทรานส์ฟอร์เมชั่น ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเรื่องกระบวนการจัดซื้อทั้งวัตถุดิบและเครื่องจักร เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในระยะ 3 ปี คือ ปีที่ 1 จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 1 หมื่นรายเกิดการลดต้นทุนเฉลี่ย 10% โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานประมาณ 800 ล้านบาท ปีที่ 2 จะส่งเสริม 2 หมื่นราย และปีที่ 3 อีก 2 หมื่นราย โดยสัดส่วนในการลดต้นทุนขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่จะกำหนดในปีต่อๆไป ส่วนงบประมาณที่จะใช้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่อาจปรับเปลี่ยนไปเป็นการใช้คูปองส่งเสริมเอสเอ็มอี
นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกเอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 29 ม.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะให้ กกร.เป็นผู้ช่วยประสานข้อมูลเอสเอ็มอีที่มีความพร้อม เนื่องจากมีข้อมูลของเอสเอ็มอีอยู่แล้ว และจะขอความร่วมมือให้ช่วยจัดกลุ่มธุรกิจให้ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศด้วย ขณะเดียวกันจะบูรณาการการทำงานไปกับมาตรการ 9 ข้อ เพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีของประเทศ
“สำหรับมาตรการดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปเสริมและยึดโยงกับ 9 มาตรการ โดยจะต้องทำงานร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงค์ ร่วมสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในการเข้าไปวินิจฉัยว่า เอสเอ็มอีแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการจะต้องปรับตรงไหนเพื่อเพิ่มโปรดักส์ทิวิตี้ นอกจากนี้ก็อาจจะมีมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาช่วยขับเคลื่อนด้วย โดยการลดต้นทุน 10% ถือว่าเป็นการลดต้นทุนที่เยอะมาก จากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตประมาณ 30% ช่วยผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น” นายอุตตมกล่าว
สำหรับมาตรการ 9 ข้อ เพื่อพัฒนาส่งเสริมเอสเอ้มอี ประกอบด้วย 1. การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) ทั่วประเทศ 23 แห่ง ซึ่งจะให้บริการเครื่องจักรกลาง และพื้นที่โค-เวิร์กกิ้งสเปซ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าต้นแบบใหม่ๆ 2. ศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทำหน้าที่รับเรื่องบูรณาการที่ปรึกษา รับคำขอกู้เงิน แก้ไขปัญหาและส่งต่อเอสเอ็มอี 3. การสร้างโค้ช 4. จัดทำข้อมูลประชากรเอสเอ็มอีของประเทศ ที่สามารถใช้วิเคราะห์โครงสร้างและสถานการณ์เอสเอ็มอีของประเทศ 5. โครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อเชื่อมต่อเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก 6. ดิจิตอล แวลู เชน ผลักดันเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์ม 7. โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน 8. เอสเอ็มอี สแตนดาร์ด อัพ และ 9. การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว