“อุตตม” ติดตามนายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มุ่งยกระดับผ้าไหมให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มอีก 40 รายในปี 2561 หวังพัฒนาให้ผ้าไหมสู่สินค้าพรีเมียม พร้อมเตรียมเปิด ICT ยกระดับ SME 4.0 ที่อุดรฯ และขอนแก่นเดือน มี.ค. 61
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการร่วมติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อตรวจราชการและพบปะประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้เยี่ยมชมวิถีการทอผ้าไหมแพรวา ที่ศูนย์วัฒนธรรมภูไท ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าและช่องทางการตลาด โดยในปี 2561 มีเป้าหมายที่จะมีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพิ่มอีก 40 รายจากปัจจุบันผ่านแล้ว 192 ราย ซึ่งภาครัฐได้เข้าไปช่วยยกระดับผ้าไหมให้ได้มาตรฐานเพื่อพัฒนาสินค้าสู่ตลาดพรีเมียม
ทั้งนี้ จากการรับฟังปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ มีอยู่ 3 ข้อที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถช่วยเหลือได้ คือ 1.) ปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียน ที่ต้องการการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยกู้เงินเกินบัญชี ต้องการเงินเพื่อขยายกิจการและการจัดซื้อเครื่องจักร ซึ่งกระทรวงฯ ได้เตรียมมาตรการทางด้านการเงิน เช่น กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 2.) ปัญหาด้านมาตรฐาน ที่ต้องการให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายและที่ปรึกษาในการจัดทำระบบมาตรฐาน กระทรวงมีคูปองแก่ SMEs ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี รายละ 30,000 บาท สามารถนำไปใช้การจัดทำระบบและการตรวจสอบด้านมาตรฐาน และรวมถึงการขอรับคำปรึกษาแนะนำด้านมาตรฐานได้
3.) ด้านแรงงาน ที่กลุ่มแรงงานหายากและมีอัตราการออกสูง ซึ่งกระทรวงฯ มีโครงการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพเครื่องจักร โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs สู่การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs ด้านดิจิตอล
สำหรับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) ที่จะยกระดับนวัตกรรมสู่ SMEs 4.0 ในส่วนของภาคอีสาน กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการเปิดศูนย์ ITC 2 แห่งในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จ.อุดรธานี รับผิดชอบครอบคลุม จ.บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี และในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จ.ขอนแก่น รับผิดชอบครอบคลุม จ.นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ทั้ง 2 ศูนย์พร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนมีนาคม 2561 เน้นให้บริการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปใช้บริการโรงงานนำร่อง (Pilot Plant) ที่มีเครื่องจักรกลางคอยให้บริการ