ผู้จัดการรายวัน 360 - “นันยาง” ลดเสี่ยงตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียน 5,000 ล้านบาทไม่โต รุกตลาดกลุ่มใหม่ เจาะโรงงาน องค์กร บริษัทที่เหมายกล็อตเป็นยูนิฟอร์มพนักงาน พร้อมขยายช่องทางออนไลน์หนักหน่วง ผนึกลาซาด้าต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรองเท้าแตะยังโตดีแต่แข่งขันรุนแรง ช้างดาวยังโตดี
นายจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ นันยาง และ ช้างดาว เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายตลาดในกลุ่มใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตที่ดี คือ กลุ่มองค์กรหรือโรงงาน บริษัทต่างๆ ที่ซื้อแบบเหมายกล็อตจำนวนมากเพื่อนำไปใช้เป็นยูนิฟอร์มของพนักงานโรงงานต่างๆ ซึ่งเริ่มมาได้ประมาณปีเศษแล้ว มีรายได้ประมาณ 20% และตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 25% ภายใน 3 ปีนี้
กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่เริ่มมีการสั่งซื้อกันบ้างแล้ว เช่น โรงงานของโอสถสภา กระทิงแดง ไทยน้ำทิพย์ ฮอนด้า ไทยชูรส ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานโรงงานและคลังสินค้า พนักงานขายและจัดส่ง พนักงานบริการ แม่บ้าน ไปจนถึงกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ
“สาเหตุที่ขยายกลุ่มนี้เพราะเป็นกลุ่มที่เติบโตดีกว่า 5-10% ต่อปี เป็นการขยายตลาดที่ดี และเป็นการลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจด้วยที่เดิมเน้นแต่กลุ่มนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งตลาดรวมรองเท้านักเรียนไม่ได้เติบโตเลย เพราะจำนวนเด็กก็เกิดน้อยลง ราคาก็ไม่สามารถจะปรับอะไรได้มาก เรายังขายราคาเดิมมานานกว่า 3 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ มีการปรับเพิ่มตลอด 5-7% แล้ว” นายจักรพลกล่าว
ขณะเดียวกันก็จะมีการขยายช่องทางจำหน่ายในโมเดลออนไลน์ให้เต็มที่กว่าเดิมอีกด้วย เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งที่ผ่านมาเราเติบโตในช่องทางออนไลน์มากกว่า 500% ซึ่งอาจจะเป็นเพราะฐานรายได้ยังต่ำอยู่ โดยมีสัดส่วนรายได้เพียง 2% เท่านั้น พันธมิตรหลักเราคือ ลาซาด้า นอกจากนั้นยังมีฐานแฟนเพจผู้ติดตามเฟซบุ๊กของเราอีกเกิน 1 ล้านราย ซึ่งก็มีการซื้อขายเกิดขึ้นในนั้นด้วยเช่นกัน ปัจจุบันช่องทางหลักของนันยางคือ เทรดิชันนัลเทรด 85% และโมเดิร์นเทรด 15%
สำหรับตลาดรองเท้านักเรียนมูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาท ปีที่แล้ว (2560) ตลาดทรงตัว โดยแยกเป็นตลาดรองเท้านักเรียนผ้าใบ สัดส่วน 60% ซึ่งนันยางมีส่วนแบ่งเป็นผู้นำในกลุ่มนี้มากถึง 42% กลุ่มรองเท้านักเรียนพีวีซี สัดส่วน 35% และกลุ่มอื่นๆ 5% ซึ่งนันยางมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 0.5-1% ต่อปี มาจากการได้ส่วนแบ่งจากคู่แข่งเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ก็ยังมีการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาดเองด้วย โดยแยกตลาดรวมออกมาให้ละเอียดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้เพื่อง่ายต่อการทำตลาด จากเดิมที่แยกเป็นกลุ่มอายุ เพศ และพฤติกรรม
1. กลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่ใช้ยี่ห้อหรือแบรนด์เดิมตลอดต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง มีมากถึง 43% ของตลาดรวม 2. กลุ่มใช้แบรนด์อะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับโปรโมชัน หรือกิจกรรมหรือตามกระแส สัดส่วน 25% 3. กลุ่มผิดหวังที่ไม่ได้ตามที่ต้องการ เช่น ขนาด หรือสี หรือลวดลาย แต่ก็ยังซื้อแบรนด์เดิม สัดส่วน 24% และ 4. กลุ่มลูกค้าใหม่ สัดส่วน 8%
ทั้งนี้ นันยางถือว่ามีตลาดในกลุ่มที่ 1 คือแฟนพันธุ์แท้เป็นหลักมากถึง 80% ย่อมไม่ทิ้งแน่นอนทำตลาดต่อเนื่องกับกลุ่มเดิมนี้เพื่อรักษาฐานเอาไว้ ขณะเดียวกันก็มีความสนใจในอีก 3 กลุ่มที่เหลือซึ่งไม่น้อยเหมือนกันเมื่อรวมกันมีมากถึง 57% ของตลาดรวม แต่ก็ถือว่าเป็นการเจาะตลาดที่ค่อนข้างยากพอสมควร
นายจักรพลกล่าวต่อว่า ส่วนตลาดรวมรองเท้าแตะนั้นมีปริมาณมากกว่า 200 ล้านคู่ต่อปี ก็ยังถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตดีเฉลี่ย 5-10% ต่อปี แต่ก็แข่งขันสูงเช่นกัน จากผู้ประกอบการจำนวนมากทั้งจากแบรนด์ไทย และแบรนด์ที่ผลิตจากจีน อย่างไรก็ตาม แบรนด์หลักในตลาดรองเท้าแตะจะมีประมาณ 4-5 แบรนด์เท่านั้น โดยที่ช้างดาวเป็นแบรนด์รองเท้าแตะแบบเบสิก แตกต่างจากแบรนด์หลักอื่นที่เป็นแนวแฟชั่น
ทั้งนี้ แยกกลุ่มรองเท้าแตะจากกลุ่มของราคารองเท้าแตะในแง่ของปริมาณ จะพบว่า 1. กลุ่มรองเท้าแตะราคามากกว่า 500 บาทขึ้นไปต่อคู่ สัดส่วนน้อยสุดที่ 1% 2. กลุ่มรองเท้าแตะราคาระหว่าง 100-400 บาท สัดส่วน 55% และ 3. กลุ่มรองเท้าแตะราคาต่ำกว่า 100 บาท สัดส่วน 44% ซึ่งนันยางจะอยู่คาบเกี่ยวใน 2 กลุ่มหลัง โดยมีราคา 99 บาทขึ้นไป และปัจจุบันรองเท้าตราช้างดาวมียอดขายประมาณ 5 ล้านคู่ต่อปี
นายจักรพลกล่าวต่อว่า ปี 2561 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโตที่ 3-5% ขณะที่ตลาดรวมรองเท้านักเรียนจะทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่ปีที่แล้วรองเท้านักเรียนเติบโต 2% ถือว่าดีสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้แยกเป็น รองเท้าผ้าใบทั้งหมด 50% และรองเท้าแตะ 50% โดยงบการตลาดรวมปีนี้ 70 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่แล้ว สาเหตุที่เติบโตมากเพราะการแบ่งตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มขยายตลาดใหม่ แบรนด์ของบริษัทฯ ที่เป็นที่ยอมรับ การทำตลาด และการออกสินค้าใหม่ๆ รวมทั้งการขยายช่องทางออนไลน์ด้วย โดยมีกำลังผลิตประมาณ 30,000-50,000 คู่ต่อวัน
ตลาดส่งออกก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่เรายังขยายต่อเนื่อง เพิ่มรายได้ต่อเนื่อง โดยตลาดหลักส่งออกของนันยางผ้าใบ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย เป็นต้น ส่วนรองเท้าแตะช้างดาว ตลาดหลักอยู่ที่พม่า บังกลาเทศ อินเดีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น รวมกว่า 15 ประเทศทั่วโลก สัดส่วนรายได้ 15%