“พาณิชย์” ลงพื้นที่ร่วมกับ “เกษตร” ติวเข้มเกษตรกร ผู้ประกอบการโคนม รับมือเปิดเสรีการค้านมและผลิตภัณฑ์กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 64 และ 68 มั่นใจสู้ได้แน่ หลังมีการปรับตัว ลดต้นทุนการผลิต ใช้นวัตกรรม และสร้างแบรนด์ เผยยังได้แนะนำให้ใช้ FTA ส่งออกจีน-อาเซียน ที่มีการลดภาษีให้ไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 2561 กรมฯ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่จัดประชุมสัมมนากับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมในภาคอีสาน ตะวันตก และใต้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ข้อมูลยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์ปี 2560-2569 และข้อมูลการเปิดตลาดนมและผลิตภัณฑ์ของไทยและประเทศคู่ค้า เพื่อหาทางรับมือและแนะนำการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA)
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ไปเยี่ยมฟาร์มโคนม พบปะกับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการศูนย์รับน้ำนมดิบกลุ่มกาญจนบุรีพรีเมียมมิลค์ และเกษตรกรที่ปลูกแปลงข้าวโพดเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามดูว่ามีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปิดเสรีทางการค้า และมีการพัฒนาตนเองเพื่อปรับตัวรองรับการเปิดเสรีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่าเกษตรกรมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมแล้ว
“ได้แจ้งต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการว่าไทยจะต้องยกเลิกมาตรการปกป้องโควตาภาษี และลดภาษีลงเหลือ 0% กับนมและผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้าจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยเริ่มจากสินค้าหางนมเวย์ เนย ไขมันเนย เนยแข็ง และนมผงที่มีไขมันเกิน 1.5% จากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 และสำหรับนมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่งและนมผงขาดมันเนย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ซึ่งการเปิดเสรีดังกล่าวจะต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบ”
นางอรมนกล่าวว่า ในการพบปะหารือ กรมฯ ได้ให้คำแนะนำเกษตรกรและผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยว่าต้องให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงวัว นำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและแปรรูป พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลักดันให้มีการจดเครื่องหมายการค้า ขยายตลาดทั้งในและไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอาเซียนและจีนที่ไม่เก็บภาษีนมและผลิตภัณฑ์จากไทย ตลอดจนผลักดันให้เกิดเครื่องหมายรับรองนมโคสด 100% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตน้ำนมดิบ ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องที่เกษตรกรและผู้ประกอบการกำลังดำเนินการอยู่แล้ว
“หากปรับตัวได้เชื่อว่าแม้จะมีการเปิดเสรี ไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถแข่งขันได้ และไทยยังใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยออกไปยังยังประเทศคู่เจรจาได้ด้วย โดยเฉพาะจีนและอาเซียน รวมทั้งหากเห็นว่าได้รับผลกระทบก็สามารถขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ และกองทุนพัฒนาสหกรณ์โคนมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ด้วย” นางอรมนกล่าว