ผู้จัดการรายวัน 360 - “โฟร์โมสต์” เตรียมส่งสินค้าใหม่ลงตลาด พร้อมรุกการตลาดเต็มที่ หวังดันยอดขายปี 60 โต 5% แซงหน้าตลาดรวมที่คาดว่าโตแค่ 3% ชี้ไทยเตรียมรับมือเสรีการค้านมในอีก 8 ปี รับภาษีเหลือ 0% มุ่งปรับปรุงการบริหารจัดการนมและเน้นส่งออกไปตลาดโลก
นายโอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดผลิตภัณฑ์นมสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดทั้งที่พัฒนาในไทยและที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ เพื่อเสริมพอร์ตโฟลิโอให้มากขึ้น รวมทั้งการรุกตลาดต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ยอดขายรวมปีนี้เติบโตมากกว่า 5% เติบโตมากกว่าตลาดรวมอุตสาหกรรมนมที่สิ้นปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 3%
ตลาดนมในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อพิจารณาจากอัตราการดื่มนมของคนไทยยังต่ำมากแค่ 18 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้นเอง ยังต่ำกว่าคนเวียดนามกับคนอินโดนีเซียด้วยซ้ำไป โดยตลาดรวมผลิตภัณฑ์นมในไทยมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดนมโค 45,000 ล้านบาท และนมถั่วเหลือง 15,000 ล้านบาท โดยในส่วนของตลาดนมโค แบ่งเป็นนมพาสเจอไรซ์ 17,000 ล้านบาท และนมยูเอชที 20,000 ล้านบาท และอื่นๆ 8,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของตลาดนมยูเอชทีบริษัทฯ เป็นผู้นำตลาดด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 33%
นอกจากนั้น ปีนี้ยังมีแผนที่จะขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสัดส่วนได้จากการส่งออกของบริษัทฯ อยู่ที่ 20% โดยไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโฟร์โมสต์ทั่วโลก รวมที่จีนด้วย โดยไทยมี 2 แห่ง คือที่สำโรง กำลังผลิต 3.6 แสนคนต่อปี หลักสี่ กำลังผลิต 8.7 หมื่นตันต่อปี ซึ่งในภาพรวมของการส่งออกจากผู้ผลิตนมจากไทยมีประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าของโฟร์โมสต์ส่งออก 2,000 ล้านบาทแล้วหรือ 1 ใน 3 ของทั้งหมด ตลาดใหญ่อยู่ที่เอเชีย
นายโอฬารยังกล่าวถึงกรณีการเปิดเสรีการค้านมในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2568 ที่จะทำให้กำแพงภาษีนำเข้าที่จะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0% จากปัจจุบันประเทศไทยมีกำแพงภาษีนมพร้อมดื่มอยู่ที่ประมาณ 84% และนมผง 216% สำหรับประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การปรับกลไกการบริหารจัดการนมภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก โดยยึดคุณภาพน้ำนมเป็นมาตรฐานหลักในการกำหนดหรือให้ราคาเพื่อขยายตลาดการส่งออกนมของไทยไปตลาดโลก ซึ่งบริษัทเองปีนี้จะมีสินค้าเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เนื่องจากอัตราการบริโภคนมในตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ตามที่องค์การการค้าโลก WTO จะเปิดเสรีการค้านม ซึ่งถือเป็นความตกลงภายใต้การค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) จะทำให้อัตราภาษีการนำเข้าและส่งออกนมลดเหลือ 0% หากประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อม บริษัทมั่นใจว่าการค้าเสรีนมที่จะเกิดขึ้นในอีก 8 ปีข้างหน้าประเทศไทยไม่เสียดุลการค้าอย่างแน่นอน แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกนมไปทำตลาดในต่างประเทศเพียง 163,804 ตันต่อปี น้อยกว่าการนำเข้าที่ปัจจุบันมีอยู่ที่ 231,002 ตันต่อปี
สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำคือ การพัฒนาและยกระดับการผลิตทั้งระบบของไทยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งในด้านของตัวเกษตรกรโคนมก็ควรมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสของนมไทยให้สามารถแข่งขันเสรีได้ในตลาดโลก ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเองก็ควรมีการปรับมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย รวมไปถึงการทำตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐที่ควรให้การสนับสนุนปรับกลไก และระเบียบข้อกฎหมายในเรื่องของการควบรวม รวมไปถึงการส่งเสริมความสามารถของเกษตรกร และผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
ภาพรวมอุตสาหกรรมนมทั่วโลกในปี พ.ศ.2559 มีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดจากปริมาณความต้องการบริโภคน้ำนมทั่วโลกที่มีสูงถึง 182.29 ล้านตัน หรือคิดเป็นการเติบโต 1.6% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศอินเดียมีการบริโภคน้ำนมสูงที่สุดคือ 62.75 ล้านตัน รองมาคือสหภาพยุโรป 34 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกา 26.52 ล้านตัน ส่วนประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีการบริโภคนมพร้อมดื่มอยู่ที่ 1.046 ล้านตัน โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.087 ล้านตัน หรือเติบโตขึ้นราว 1.67% กล่าวคือคนไทยดื่มนมเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี
ในขณะที่ภาพรวมการผลิตน้ำนมดิบพบว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ถึง 499 ล้านตัน โดยสหภาพยุโรป สามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด ในปริมาณ 151.60 ล้านตัน รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตน้ำนมดิบได้ในปริมาณ 96.34 ล้านตัน และตามด้วยประเทศอินเดีย ที่ผลิตน้ำนมดิบได้ในปริมาณ 68 ล้านตัน โดยในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด วันละ 3,300 ตัน หรือปีละประมาณ 1.20 ล้านตัน รองมาคือเวียดนามวันละ 3,205 ตันหรือปีละประมาณ 1.17 ล้านตัน และอินโดนีเซียวันละ 2,334 ตันหรือปีละประมาณ 0.85 ล้านตัน และประเทศไทยยังมีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 231,002 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,472 ล้านบาท ส่วนการส่งออกมีปริมาณ 163,804 ตัน เติบโตขึ้น 13.63% และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ส่งออก 6,995 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.88% ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่า การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์นมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ มีการขยายกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง