xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ยันแก้กฎหมาย AD เพื่อเพิ่มมาตรการดูแลอุตสาหกรรมในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ยันแก้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน เพิ่มมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับมาตรการเดิม แต่เป็นการทำให้เข้มขึ้นเพื่อให้สามารถดูแลอุตสาหกรรมในประเทศได้ดียิ่งขึ้น เหตุมาตรการเดิมจัดการไม่ค่อยได้ ย้ำไม่ได้ทำเพื่อปกป้องใคร ส่วนการให้อำนาจกรมศุลกากรกักของ ไม่ใช่กักได้ตามอำเภอใจ แต่ทำได้กรณีผู้นำเข้าไม่ชำระอากร AD เท่านั้น

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีผู้นำเข้าเหล็กคัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือกฎหมาย AD ฉบับใหม่ ว่าการแก้กฎหมายได้เพิ่มมาตรการ Anti-Circumvention (AC) เป็นการขยายมาตรการ AD ไปยังสินค้าที่หลบเลี่ยง ไม่ใช่เป็นการให้การปกป้องซ้ำซ้อนกับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ที่มีอยู่เดิม เพราะในปัจจุบันมีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ทำให้มาตรการที่ใช้บังคับไม่มีผลในการเยียวยาอุตสาหกรรมภายในตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่มาตรการ AC จะช่วยให้อุตสาหกรรมภายในได้รับความเป็นธรรมทางการค้าและแข่งขันได้ มิได้มีเจตนาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นที่ผู้นำเข้ากังวลว่ากฎหมายจะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดอายัดเพื่อตรวจสอบสินค้านำเข้าที่สงสัยว่าได้หลบเลี่ยงมาตรการ AD ซึ่งจะเป็นภาระและทำให้ผู้นำเข้ามีค่าใช้จ่ายอย่างมากนั้น เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการแก้กฎหมายกำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจในการกักของ ยึด หรืออายัดสินค้าได้ ก็ต่อเมื่อผู้นำเข้าค้างชำระค่าอากร AD ไม่ใช่เป็นการให้กรมศุลกากรยึดหรืออายัดสินค้าเพื่อตรวจสอบการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ตามที่ผู้นำเข้าเข้าใจแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ตามที่ผู้นำเข้าเหล็กเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลตรวจสอบความสามารถในการผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมภายในว่าผลิตได้ตามคุณภาพและปริมาณความต้องการในประเทศของผู้ใช้จริงหรือไม่นั้น กรมฯ ยืนยันว่า ในกระบวนการไต่สวน AD ได้มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบอยู่แล้ว ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) จะมีการพิจารณาวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการ AD หรือไม่ อย่างไร

ขณะเดียวกัน ในการดำเนินการไต่สวนการหลบเลี่ยงตามกฎหมายใหม่ จะมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส โดยผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการไต่สวนได้ และมีการพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ โดยแนวทางการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้มีการศึกษากฎหมายของประเทศสมาชิก WTO ต่างๆ ที่มีประสบการณ์ในการใช้มาตรการ AC และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น