xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐต่อยอดงานวิจัยการผลิตชิ้นส่วน หนุนอุตฯ ในประเทศผลิตเองลดต้นทุนระบบราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ-เอกชนไทยผนึกแนวคิดเสนอรัฐต่อยอดงานวิจัยการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ก่อสร้างและซ่อมบำรุงระบบราง รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยเพื่อลดต้นทุนในระยะยาว พร้อมโชว์รถตรวจทางรถไฟต้นแบบพัฒนาโดยคนไทยต้นทุนต่ำกว่านำเข้าหลายเท่าตัว ในงาน RAIL Asia Expo 2018

รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างวันที่ 28-29 มี.ค. 2561 ซึ่งจะมีการจัดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 (The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018) หรือ The 4th RISE Symposium & RAIL Asia Expo 2018 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน ซึ่งจะมีการประชุมทางวิชาการนำเสนองานวิจัย แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของงานแสดงสินค้าด้านระบบรางให้นักลงทุนระบบรางทั่วโลกได้รับทราบถึงนโยบายการพัฒนาระบบรางของรัฐบาลไทยในปัจจุบันที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการเดินรถ ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบ อุปกรณ์ มาร่วมแสดงผลงานอย่างเต็มรูปแบบ

นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีแผนลงทุนพัฒนาระบบรางจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมของไทยที่เป็นงานต่อเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้มีการพัฒนาและพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งระบบรถไฟฟ้าทั้งตัวรถ และการซ่อมบำรุงที่ผ่านมายังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ แต่โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นคาดว่าจะมีการสนับสนุนวิศวกรไทย รวมถึงอุตสาหกรรมไทยในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และจะเป็นการช่วยลดต้นทุนโครงการเพื่อจะสะท้อนไปที่อัตราค่าโดยสารของระบบรางที่ต่ำลง

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริหารแผนงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” ซึ่งเป็นรถตรวจสภาพทางที่สามารถวิ่งได้ทั้งถนนและรางรถไฟขนาด 1 เมตร ซึ่งปัจจุบันต้องซื้อจากต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ราคา 30-50 ล้านบาท ตามแต่อุปกรณ์และขอบเขตของการใช้งาน ซึ่งรถตัวอย่างนี้หากมีการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาท

สำหรับรถตรวจสภาพทางตัวอย่างพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนกานต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยนำรถปิกอัพมาติดระบบล้อขับเคลื่อนบนราง เบื้องต้นจะใช้เป็นรถขนอุปกรณ์ซ่อมทางรถไฟ สามารถวิ่งได้บนถนนและรางรถไฟ ต้นทุนเริ่มต้น 1.6 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตัวรถ 1 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 6 แสนบาท วิ่งบนรางที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ในอนาคตสามารถต่อยอดอุปกรณ์ที่จะใช้งานเพิ่มเติมเพื่อเป็นรถอเนกประสงค์ได้

ด้าน นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะประธานงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการฯ กล่าวว่า ปีนี้โครงการระบบรางในประเทศจะมีการประมูลและจัดซื้อจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสในการนำเสนอแผนงานและแนวคิดต่อผู้ผลิต ผู้ให้บริการเดินรถของภาครัฐและเอกชน และคู่ค้านักลงทุนระดับภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “อนาคตระบบรางของอาเซียน” โดยไทยมีแผนลงทุนทั้งรถไฟความเร็วสูง การขนส่งในเขตเมือง ขนส่งรูปแบบใหม่ในเขตเมืองของจังหวัดขอนแก่น ภูเก็ต นครราชสีมา และเชียงใหม่ รวมถึงการลงทุนโครงการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC มูลค่า 22,500 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย

นายเดวิด เอ็ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า งาน The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018 ในปีนี้เป็นการผนึกงาน RAIL Asia Expo ครั้งที่ 6 และงาน RISE การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 สองงานใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน เป็นงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีรถไฟ และรถไฟใต้ดินใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวบรวมผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านรถไฟ รถไฟใต้ดิน ผู้รับเหมา ระบบราง ผู้ให้บริการระบบรถไฟ ระบบไอที การสื่อสาร อาณัติสัญญาณ อุปกรณ์ในสถานี ระบบความปลอดภัย ฯลฯ ผู้ผลิตต่างประเทศชั้นนำทั้งจากยุโรป, อเมริกา, เอเชีย มาจัดแสดงในงาน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมงานและตัวแทนจำหน่ายถึง 120 บริษัทจากทั่วโลก มีผู้เกี่ยวข้องผู้ผลิต ผู้ให้บริการเดินรถ ที่ปรึกษา ผู้รับเหมา นักลงทุน วิศวกร กว่า 1,000 ราย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานถึง 3,000 คน

ในปีนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่วงการขนส่งระบบรางจากทั่วโลก เช่น บอมบาร์เดีย, ชไนเดอร์, ซีเมนส์, ซีอาร์เอสซี และวอร์สทอนไพน์ มีพาวิเลียนจากสหราชอาณาจักร จีน และเกาหลี จะนำเทคโนโลยีล่าสุด นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมนี้มาแสดงรองรับเมกะโปรเจกต์ระบบรางของไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น