รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะลงพื้นที่เยี่ยมชม บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด เพื่อชมผลงานการพัฒนาผ้าเบรกไร้ใยหิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจาก สวทช.มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 15 ปี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP (ไอแทป) ได้เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกของบริษัท คอมแพ็คฯ ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการวิจัยพัฒนา จนเกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรุ่นสำหรับใช้ในรถบัสและรถยนต์
ทั้งนี้ การบริหารจัดการนวัตกรรมที่มีระบบจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับและเป็นที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเรื่องมาตรฐานของผลิตภัณฑ์มาใช้เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และเห็นว่าบริษัทฯ มีศักยภาพที่ดีจะส่งเสริมให้ไปทำงานร่วมกันที่ EECi เพื่อพัฒนาและสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้นและแข่งขันในตลาดโลกต่อไป
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “บริษัท คอมแพ็คอินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด เป็นบริษัทผู้นำผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกเมืองไทยซึ่งเป็นรายแรกที่ได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน หรือ NAO (NON Asbestos Organic) ที่ได้ตามมาตรฐานสากล โดยบริษัทได้พัฒนายกระดับเทคโนโลยีมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ผ่านโปรแกรม ITAP จำนวน 15 โครงการ
ช่วงแรกเริ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทขายในตลาดวงแคบ เฉพาะตลาด หลังการขาย (aftermarket) ที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง การเข้าร่วมโปรแกรม ITAP สวทช.ของบริษัท เพื่อพัฒนาผ้าเบรกไร้ใยหิน โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ เป็นแนวคิดที่เปลี่ยนตลาดและสร้างจุดยืนใหม่ให้กับธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาผ้าเบรกไร้ใยหินขณะนั้นตอบโจทย์ทั้งการขยายตลาดต่างประเทศ และแนวโน้มผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม
ด้าน นายเกษม อิสระพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการบริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ใช้บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ สวทช. เพื่อพัฒนาการทดสอบประสิทธิภาพและลงทุนซื้อเครื่อง Brake Dynamometer มาทดสอบประสิทธิภาพเบรก รวมถึงได้สร้างศูนย์พัฒนาและทดสอบผ้าเบรกเป็นแห่งแรกในเอเชีย ทำให้การวิจัยพัฒนาของบริษัททำได้รวดเร็วอย่างก้าวกระโดด ผ่านมาตรฐานสากล มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้งบประมาณสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาประมาณ 5% จากรายได้ รวมทั้งบริษัทมีการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาของบริษัทและใช้บริการ ITAP อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากบริษัทที่ขายแค่ในตลาดหลังการขาย สามารถสร้างธุรกิจใหม่เป็นบริษัทชั้นนำโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีศูนย์ทดสอบและทีมวิจัยที่เข้มแข็ง รวมทั้งเครือข่ายศูนย์บริการเปลี่ยนผ้าเบรก จนสามารถยกระดับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับ 1 (1st Tier) ได้ และส่งออกไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และในปี 2559 มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท