xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด SME เทงบพันล้าน หนุนใช้ดิจิตอลเชื่อมโยงสู่ฐานราก ตั้งเป้าสร้างมูลค่า 3.7 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (แฟ้มภาพ)
“สุวรรณชัย” เผยบอร์ด SME อนุมัติงบ 1,219 ล้านบาท หนุนใช้ดิจิตอลเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงสู่ฐานราก ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 3.7 พันล้าน

วันนี้ (7 มี.ค.) เวลา 15.20 น. นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณจำนวน 1,219 ล้านบาท เพื่อบูรณาการงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามยุทศาสตร์ชาติใน 4 แนวทาง คือ 1. สร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) วงเงิน 141.51 ล้านบาท มีเป้าหมายพัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ 10,000 ราย และสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่เข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 3,000 กิจการ 2. ส่งเสริมเอสเอ็มอีกลุ่มทั่วไปให้มีศักยภาพมากขึ้น และให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ วงเงิน 505.88 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนา 33 เครือข่าย ส่งเสริมผู้ประกอบการ 74,032 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการขาย 101,482 ผลิตภัณฑ์ และจัดงานประกวด 2 งาน

นายสุวรรณชัยกล่าวว่า 3. ส่งเสริมเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้มีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น วงเงิน 40.76 ล้านบาท ตั้งเป้าให้ความรู้ด้านการตลาด 2,000 ราย และสนับสนุนด้านการตลาดทั้งใน และต่างประเทศรวม 2,000 กิจการ 4. พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อการส่งเสริมเอสเอ็มอี 531.28 ล้านบาท โดยจัดทำแผนการดำเนินงาน 2 แผน ศึกษาวิจัยและจัดทำรายงานที่เป็นประโยชน์ จำนวน 23 เรื่อง จัดทำฐานข้อมูลสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้แก่เอสเอ็มอี 7 ระบบ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 25 เครือข่าย และให้คำแนะนำปรึกษาแก่ เอสเอ็มอีจำนวน 188,850 ราย โดยภาพรวมในปีนี้คาดว่าเอสเอ็มอีจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,760 ล้านบาท ผู้ประกอบการแต่ละรายมียอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการที่ร้อยละ 20

นายสุวรรณชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อสนับสนุนการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกันธุรกิจใหม่ตามมาตรฐานสากล การศึกษา และแผนปฏิบัติการแนวทางการยกระดับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น และแนวทางการพัฒนาการเข้าถึง E-Government ด้านต่างๆ โดยผลการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 ก.พ.ร.มีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาบริการของหน่วยงานภาครัฐให้มีความง่ายต่อการประกอบธุรกิจจำนวน 79 กิจกรรม และมีหน่วยงานต่างๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพตามข้อเสนอแนะ 26 กิจกรรม ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับอันดับประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากอันดับที่ 46 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2561 โดยมีตัวชี้วัดที่ได้รับการปรับปรุง 8 ด้านจาก 10 ด้าน และติด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีการปรับปรุงมากที่สุดอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น