รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ชี้ “ทักษิณ” เมินตั้งทนายสู้คดีแปลงค่าสัมปทานฯ เป็นผลเสียเอง ระบุศาลฎีกาฯ เดินหน้าไต่สวนฝ่ายเดียวตามกฎหมายใหม่ ขณะเดียวกัน อ้าง “โออีซีดี” เล็งเห็นความก้าวหน้าป้องปรามโกงของไทย
วันนี้ (7 มี.ค.) ที่โรงแรม เซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ คดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ว่าศาลก็จะพิจารณาไปฝ่ายเดียว ช่วยไม่ได้เพราะเป็นระบบไต่สวน
เมื่อถามว่ากรณีนายทักษิณบอกไม่ยอมรับการพิจารณาคดีลับหลัง เป็นการดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ตนไม่มีความเห็น เมื่อถามย้ำว่าการไม่ตั้งทนายต่อสู้คดีจะเป็นผลเสียต่อนายทักษิณเองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “แน่นอน เพราะศาลสามารถพิจารณาได้ฝ่ายเดียว ศาลอาจจะช่วยซักพยานให้ได้บ้าง แต่คงทำได้ไม่เต็มที่เหมือนมีทนายมาช่วยซัก การตั้งทนายความมาสู้คดีแบบนั้นดีที่สุด แม้ไม่ซักถามอะไรมานั่งสังเกตการณ์ก็ยังดี”
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ที่เตรียมก่อตั้งพรรคการเมือง ออกมาพูดผ่านโซเชียลมีเดียจนมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนเป็นการหาเสียทั้งที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อกทางการเมืองว่า ตนไม่อยากไปวินิจฉัย ตนว่า คสช.คงจับตาดูอยู่ ถ้าไปถึงจุดที่ล้ำเส้นเมื่อไหร่ก็จะเตือน ถ้าเกินจากนั้นก็ต้องเชิญมาห้ามปราม
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จัดการประชุมรับฟังรายงานการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐ นายวิษณุกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า โออีซีดีมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าองค์กรของสหประชาชาติ แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เรามีความสัมพันธ์อันแนบแน่นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ใครที่คลุกคลีในองค์กรของรัฐจะได้ยินบ่อยว่าให้ทำตามคำแนะนำของโออีซีดีซึ่งมี 2 มิติ คือ มิติทางกฎหมาย และมิติการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย มีการทาบทามว่าประเทศไทยสนใจที่จะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ ป.ป.ท.และ ก.พ.ร.ก็สนับสนุนว่าควรทำเอกสารทางวิชาการร่วมกับโออีซีดี ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการเรื่องการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทั้งการที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ การผลักดันให้มีศาลอาญาคดีทุจริตหรือและประพฤติมิชอบ การแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษคดีทุจริต ทั้งหมดนี้โออีซีดีเล็งเห็นความก้าวหน้าของเรา