xs
xsm
sm
md
lg

ออกหมายจับ! “ทักษิณ ชินวัตร” อีกคดี ไม่มาศาล คดีแปลงสัมปทานโทรคมนาคม 6.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“นายทักษิณ ชินวัตร” อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี
MGR Online - ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ “ทักษิณ ชินวัตร” จำเลยคดีแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต 6.6 หมื่นบาท เหตุไม่มาศาล นัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.ค.นี้

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (6 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนคดีแปลงสัมปทานกิจการโทรคมนาคม คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 ได้ออกบัลลังก์นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ภายหลังนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด โจทก์ มอบอำนาจให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 ขอให้ศาลพิจารณานำคดีที่ได้ยื่นฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2551 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4,100,122

กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ. 2527) พ.ศ. 2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551 ซึ่งเคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราวเพราะตัวจำเลยหลบหนีคดีโดยจำเลยถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาต่อไป ตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

โดยองค์คณะ 9 คนซึ่งประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา 1, นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา คนที่ 2, นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา คนที่ 3, นายโสภณ โรจน์อนนท์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 4, นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5, นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา, นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายดิเรก อิงคนินันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา

เมื่อถึงเวลานัด อัยการโจทก์เดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นัดพิจารณาคดีครั้งแรกอัยการโจทก์มาศาล โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง ส่วนจำเลยทราบนัดโดยชอบ แต่ไม่เดินทางมาและไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนนัดพิจารณาคดี จึงให้ออกหมายจับจำเลย โดยให้อัยการ โจทก์ติดตามดำเนินการจับกุมจำเลยและรายงานให้ศาลทราบทุกๆ 1 เดือน ทั้งนี้ จำเลยไม่เดินทางมาถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธไม่ได้กระทำผิดตามคำฟ้องโจทก์ จึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 ก.ค.นี้. เวลา 09.30 น. และให้แจ้งนัดให้จำเลยทราบตามที่อยู่ทะเบียนราษฎรที่แจ้งไว้ย่านจรัญสนิทวงศ์ หากไม่มีผู้รับให้ติดหมายนัดที่บ้านพักจำเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหมายจับให้มาฟังพิจารณาคดีที่ศาลออกให้วันนี้ เป็นหมายจับที่ออกใหม่ เนื่องจากเป็นการเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายใหม่ โดยที่หมายจับใบเดิมในคดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกและยังไม่ถือว่าหมดอายุความ ทั้งนี้ นอกจากคดีดังกล่าวแล้วยังมีคดีที่อัยการสูงสุดและป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ยื่นฟ้องคดี และยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตาม วิ อม.ใหม่ อีก 3 สำนวน ประกอบด้วย คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย, คดีทุจริตการปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ และคดีหวยบนดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น