“คมนาคม” หารือร่วม กมธ.คมนาคม สนช.หาช่องปรับกฎหมายกระจายอำนาจ โอนถนนท้องถิ่นคืนกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทหลังถนนพังแต่มีปัญหางบซ่อมบำรุง “ไพรินทร์” เผยเตรียมหารือคลังแก้เงื่อนไขลดผลตอบแทนธนารักษ์ จูงใจเอกชนบริหารท่าเรือร้าง
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สนช. เป็นประธาน ว่า กมธ.คมนาคมได้หารือในหลายประเด็น เช่น กรณีถนนที่ท้องถิ่นได้รับโอนจากกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เกิดชำรุดเสียหาย แต่มีปัญหาหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการซ่อมบำรุง และต้องการโอนคืนแต่กฎหมายที่กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นห้ามโอนคืน
ดังนั้นจะต้องมีการหารือร่วมกันในประเด็นข้อกฎหมายกรณีที่จะมีการโอนคืนถนนจากท้องถิ่นให้ ทล. ทช. และมีการพิจารณาถนนที่จะโอนคืน ซึ่งจะต้องเป็นเส้นทางที่ท้องถิ่นดูแลไม่ไหว โดย กมธ.คมนาคม สนช.จะช่วยในเรื่องการพิจารณาข้อกฎหมายด้วย
“ที่ผ่านมา ทล.และ ทช.ต้องเข้าไปช่วยซ่อมบำรุง แต่อาจจะเกิดปัญหากับทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ นอกจากนี้ ถนนในท้องถิ่นนั้นเกิดความเสียหายค่อนข้างเร็วเพราะมีการบรรทุกหนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร การจัดตั้งงบประมาณมีข้อจำกัด ทำให้เกิดความล่าช้า ซ่อมบำรุงไม่ทัน อีกทั้งบางเส้นทางจะมีหลาย อบต.หรือท้องถิ่นหลายแห่งรับผิดชอบ ทุกอย่างต้องคุยกันใหม่” นายไพรินทร์กล่าว
โดยจากข้อมูลพบว่าถนนของกรมทางหลวงชนบทโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนการกระจายอำนาจฉบับที่ 1-2 มีเป้าหมายรวม 72,010 กม. โดยโอนไปแล้ว 66,836 กม. เหลือ 5,394 กม. ขณะที่มีท้องถิ่น 726 แห่งแจ้งขอโอนถนนคืนให้ ทช. 1,768 สาย รวม 10,119 กม.
นอกจากนี้ กมธ.คมนาคม สนช.ยังแสดงความกังวลในการบริหารท่าเรือชายฝั่ง เนื่องจากพบว่าเมื่อกรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วจะต้องโอนคืนกรมธนารักษ์เพื่อหาผู้บริหารท่าเรือต่อไป แต่ปัญหาคือกรมธนารักษ์ได้มีข้อกำหนดในเรื่องผลตอบแทนจากเอกชนค่อนข้างสูง ทำให้เอกชนไม่เข้ามาลงทุน ซึ่งเดิมกำหนดให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 50% ก่อนหักภาษี แม้ว่าจะมีการปรับเงื่อนไขเมื่อปลายปี 2560 เป็นเก็บส่วนแบ่งรายได้ในอัตราก้าวหน้า คิดค่าเช่า 3% แต่มีเงินกินเปล่า (แป๊ะเจี๊ยะ) อีก 1% ต่อปีของมูลค่าสินทรัพย์ เช่นกรณีท่าเทียบเรือคลองใหญ่ มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทจะต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงและเป็นภาระ
ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ตนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อจูงใจเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมีแนวคิดที่ขัดแย้งในประเด็นบริการของรัฐ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับถนน ซึ่งไม่คิดค่าใช้เพราะถือเป็นบริการของรัฐ ขณะที่ท่าเรือมีการคิดค่าตอบแทน ทั้งที่ท่าเรือเป็นการใช้ทรัพย์สินของรัฐ แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นบริการของรัฐ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการก่อสร้างโครงการต่างๆ และดูแลการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งบูรณาการการเชื่อมต่อการเดินทางระบบต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการเดินทาง เพื่อลดการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ ไปประกอบการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป