“สนธิรัตน์” ร่วมมือ “สมคิด” ดันไทยแลนด์ เทกออฟ เตรียมตั้งเป้าส่งออกปี 61 โตมากกว่า 6% หลังประเมินเศรษฐกิจโลกฟื้น พาณิชย์มีแผนเจาะตลาดชัดเจน พร้อมลุยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากดันราคาสินค้าเกษตร ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานไทยแลนด์ เทกออฟ 2018 ว่า หัวใจหลักในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ เทกออฟ มี 2 ขา ขาแรกคือ การขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งกระทรวงฯ มั่นใจว่าจะผลักดันให้ขยายตัวได้มากกว่า 6% ขึ้นไป โดยจะกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นทางการในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลกในวันที่ 19 ก.พ. 2561 ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าจะโต 6% เป็นการรวบรวมและระดมความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรม ยังไม่ใช่เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกโตได้มากกว่า 6% มาจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง และกระทรวงฯ มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกเน้นตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย โดยตลาดเหล่านี้จะไม่มองเพียงแค่ประเทศ จะเจาะลึกไปรายเมือง ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง และมีแผนที่จะผลักดันส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ซึ่งหากพบตรงไหนมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าก็จะเข้าไปเจรจาแก้ไขทันที ส่วนเงินบาทแข็งค่า ยอมรับว่าอาจกระทบต่อเป้าหมายการส่งออก ซึ่งรัฐได้ดูแลอยู่ และขอให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวด้วย
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับขาที่ส 2 คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งกระทรวงฯ จะให้ความสำคัญในการดูแลสินค้าเกษตร เพราะถ้าสินค้าเกษตรไม่ดีก็ไม่ต้องพูดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากเข้ามารับตำแหน่งเกือบ 3 เดือนได้มีการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ได้แก้ปัญหาสต๊อกล้นจนกลับมาปกติ ทำให้ราคาปาล์มสดอยู่ที่ 3.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) มีแนวโน้มขึ้นไปถึง 4 บาทต่อ กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคา 9.50-9.60 บาทต่อ กก. มันสำปะหลัง 2.40-2.45 บาทต่อ กก. และข้าวเปลือก โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิราคา 1.7 หมื่นบาทต่อตัน และยังได้ขับเคลื่อนในเรื่องผลไม้ ผลักดันให้ไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก
นอกจากนี้ ได้เข้าไปช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยได้ผลักดันร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว 2 หมื่นแห่ง และอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มอีก 2 หมื่นแห่ง รวมเป็น 4 หมื่นแห่ง และทำการเชื่อมโยงตลาดนำสินค้าของเกษตรกร ผู้ผลิตชุมชนเข้าไปจำหน่าย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก ส่วนในเฟส 2 กระทรวงฯ ได้เน้นการฝึกอาชีพ ทั้งการทำร้านอาหาร เสริมสวย แม่บ้าน และสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านการลงทุนในแฟรนไชส์
ขณะเดียวกัน มีแผนที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ตามแนวชายแดน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการทำการค้าชายแดน โดยเฉพาะกับตลาดกลุ่ม CLMV ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทางหนึ่ง