“กกร.” มองเศรษฐกิจปี 2561 โตใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 4% เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวสดใส ประกอบกับมั่นใจ ครม.ใหม่ที่ “สมคิด” คุมกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดจะทำให้การทำงานไปในทางเดียวกัน แนะรัฐบาลเร่งฟื้นเศรษฐกิจฐานราก เหตุแรงซื้อยังเปราะบาง ผวาบาทแข็งฉุดส่งออกหลังบาทแข็งค่าเร็วเกินไป แนะ ธปท.ดูแลใกล้ชิด
นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของปี 2561 จะเติบโตได้ 6-9% จากปีนี้ที่การส่งออกจะเติบโต 9% สูงกว่ากรอบประมาณการเดิมที่วางไว้ 6.5-7.5% ประกอบกับทิศทางการท่องเที่ยวแนวโน้มดี เศรษฐกิจโลกฟื้นภาพรวมจึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจปี 2561 จะเติบโตได้ระดับ 4% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ที่จะโต 3.7-4% ประกอบกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่การทำงานจะไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพราะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด
“ทีมเศรษฐกิจน่าจะคุยไปในทางเดียวกันมากขึ้น เพราะล่าสุดคุณสมคิดก็จะดูกระทรวงพาณิชย์ และเกษตรฯ เพิ่มอีก และรัฐมนตรีใหม่หลายคนก็เป็นที่ยอมรับของเอกชนเพราะมีความรู้ ความสามารถ และเชื่อว่าจะมาสานต่อนโยบายที่สำคัญๆ ให้เกิดความต่อเนื่องโดยเฉพาะเรื่องของยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)” นายกลินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลที่มีเวลาทำงานเพียง 1 ปีให้ความสำคัญ เช่น 1. การแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น 2. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน 3. การเร่งโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการลงทุนโครงการเน็ตประชารัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องแต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ทั่วถึงในทุกภาคส่วน สะท้อนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงเปราะบางทำให้เศรษฐกิจฐานรากไม่ดีเท่าที่ควร รัฐบาลจึงต้องเร่งพัฒนาโครงการต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนแตะ 32.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วงปลายเดือน พ.ย. ถือเป็นการแข็งค่าแล้ว 9.7% จากปลายปีก่อน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจะดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้นที่จะไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปเพราะอาจกระทบต่อภาวะการส่งออกซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเร็วกว่าดอลลาร์ อินเด็กซ์ที่อ่อนค่า ซึ่งเป็นผลจากการกระจายความเสี่ยงการลงทุนของต่างชาติในลักษณะการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น ทำให้ภาคเอกชนเป็นห่วงว่าไม่น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกและเศรษฐกิจไทย