รมว. ดีอี เผยค่าบริการเน็ตประชารัฐกำหนดราคากลางแล้วไม่เกิน 400 บาท ต่อความเร็ว 30 Mbps เพื่อให้ไอเอสพี กำหนดราคาที่ถูกลง คาดต้นปีเริ่มกำหนดราคา ส่วนผลการตรวจงานเน็ตประชารัฐ ต. วังหิน จ. โคราช พบกลุ่มการแพทย์-ดิจิตอล ฟาร์มเมอร์ได้ใช้ประโยชน์
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวภายหลังการลงพื้นที่โครงการเน็ตประชารัฐ ที่หมู่บ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ 4 ต. วังหิน อ. โนนแดง จ. นครราชสีมา ในคณะของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่า อ. โนนแดง ติดตั้งเน็ตประชารัฐได้ครบทั้ง 33 หมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว โดย ต. วังหิน มีหมู่บ้านเป้าหมายที่ติดตั้งทั้งหมด 8 หมู่บ้าน
ขณะที่ภาพรวมในการติดตั้งเน็ตประชารัฐในจังหวัดนครราชสีมา ติดตั้งแล้ว จำนวน 734 หมู่บ้าน จากแผนการติดตั้ง 1,573 หมู่บ้าน ซึ่งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีจุดติดตั้งอินเทอร์เน็ตประชารัฐจำนวนมากที่สุด คือ 13,435 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จแล้ว 6,400 หมู่บ้าน โดยภาพรวมทั้งโครงการ 24,700 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จแล้วจำนวน 12,000 หมู่บ้าน
*** เน็ตหมู่บ้านราคาถูกแน่
ส่วนเรื่องการกำหนดราคาค่าบริการสำหรับประชาชนที่ต้องการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียงนอกกลุ่มเป้าหมายนั้น คาดว่าต้นปีหน้าจะมีความชัดเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือโดยจะพิจารณาปัจจัยด้านงบประมาณ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. หากติดตั้งในโรงเรียน ต้องพิจารณาว่าในแต่ละโรงเรียนจะสามารถใช้งบประมาณจากไหนได้บ้าง อาทิ ภาครัฐ โดยกองทุนหมู่บ้าน, เทศบาลตำบล หรืออาจจะเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน 2. หากเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จะใช้งบประมาณจากไหน และ 3. ธุรกิจท้องถิ่น หรือ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือน ซึ่งดีอี ต้องเป็นผู้กำหนดราคากลางที่เหมาะสมให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ใช้เทียบราคาในการให้บริการ ซึ่งต้องถูกกว่าราคาที่ให้บริการอยู่ในท้องตลาด เพราะดีอี ได้ลงทุนโครงข่ายให้บางส่วนแล้ว เช่น ดีอี กำหนดราคากลางที่ประมาณ 300-400 บาท ต่อความเร็ว 30/10 Mbps หากไอเอสพี จะให้บริการต้องกำหนดราคาที่ไม่แพงไปจากนี้ โดยต้องเทียบกับความเร็วที่ให้บริการตามลำดับ โดยที่ผ่านมา สาเหตุที่กระทรวงดีอี ยังไม่กำหนดราคาค่าบริการเข้าสู่ครัวเรือนนั้น เพราะต้องการสร้างการรับรู้ และสร้างการเรียนรู้ผ่านจุดที่ให้บริการไวไฟก่อน
***แพทย์ฉุกเฉินใช้ประโยชน์รักษาออนไลน์
นายแพทย์สุนทร ชินประสาทศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ ต. วังหิน กระทรวงดีอี ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในการใช้พื้นที่จุดที่มีไวไฟของโครงการอินเทอร์เน็ตชุมชน เพื่อให้บริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งโรงพยาบาลมีการพัฒนาเทคโนโลยี Telegraphic Medicine เพื่อเข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล โดยระบบจะมีการส่งภาพ, เสียง, สัญญาณชีพ และระบบการติดตามรถพยาบาล (GPS) แบบเรียลไทม์ไปยังโรงพยาบาล เพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางไปยังโรงพยาบาล ลดการเข้าคิวรอพบแพทย์ และแก้ปัญหาแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษาได้ ที่สำคัญ คือ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 1,800 คน
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวเป็นการพัฒนาโดยคนไทยที่สามารถประสานการทำงานได้ 120 จุด พร้อมกัน มีรถฉุกเฉินในการทำงานร่วมกับระบบนี้ 34 คัน ครอบคลุม 27 อำเภอในจังหวัด และคาดว่าจะครบ 32 อำเภอ กลุ่มเป้าหมายของการให้บริการภายในปีหน้า
“ระบบนี้ให้บริการได้ทั้งในรูปแบบ หุ่นยนต์การแพทย์ทางไกล เพื่อกดปุ่มฉุกเฉิน และติดต่อแพทย์โดยตรง โดยระบบจะแจ้งให้รถฉุกเฉินมายังพื้นที่ และติดต่อกับแพทย์ในการรักษาโดยตรง, การปฏิบัติการด้วยระบบ Telegraphic Medicine ด้วยจอคอมพิวเตอร์ และ Telegraphic Bag ในรูปแบบกระเป๋าเคลื่อนที่ ซึ่งการมีจุดให้บริการไวไฟ ของโครงการเน็ตประชารัฐจะช่วยให้โครงการแพทย์ทางไกลสะดวกมากขึ้น จากปกติที่อาศัยเพียงสัญญาณจากดาวเทียม”
*** ช่วยสร้าง ดิจิตอล ฟาร์มเมอร์
นายสราวุฒิ แช่มเมืองปัก กล่าวว่า โครงการเน็ตประชารัฐจะส่งผลให้ดิจิตอล ฟาร์มเมอร์ ได้ถ่ายทอดความรู้แบบออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ให้คนในพื้นที่สามารถได้รับความรู้ไปพร้อมกัน โดยตนเองก็เป็น 1 ในผลผลิตของโครงการดังกล่าว โดยได้นำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการมาช่วยลดรายจ่ายของครัวเรือนด้วยการทำปุ๋ยไว้ใช้ และขายด้วย อีกทั้งยังสร้างให้เป็นต้นแบบที่ดีของข้าราชการในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
ขณะที่ นายสุรศักดิ์ ทัพธมาตร กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการดิจิตอล ฟาร์มเมอร์ ตนเองก็ได้ถ่ายทอดความรู้ไปยังนักเรียน เพื่อหวังให้ไปบอกต่อกับผู้ปกครอง และเปลี่ยนความคิดว่า การทำงานที่บ้านเกิดนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการทำการเกษตร หากแต่จะมีแนวคิดต่าง ๆ อีกจำนวนมากในการนำสิ่งที่ตนเองมีอยู่มาทำเป็นอาชีพ โดยไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานที่จังหวัดอื่น ซึ่งเมื่อมีเน็ตประชารัฐ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเรียนในการหาข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานในสิ่งที่เขาสนใจ ยกตัวอย่าง ลูกศิษย์ของตนก็ประสบความสำเร็จจากการได้รางวัลด้านการแต่งเพลง ไม่ใช่การทำเกษตร โดยไม่ต้องทิ้งบ้านไปทำงานต่างถิ่น
สอดคล้องกับนายภิรมย์ แก้วมณี ที่เล่าให้ฟังว่า ตนเองจบทางด้านแฟชั่นดีไซน์มา แต่ไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง จึงเข้าร่วมโครงการ และนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างราคา ให้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นด้วยการสร้างแพกเกจให้แตกต่าง และน่าสนใจ นอกจากนี้ สินค้าที่นำมาขายต้องมีการสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจด้วย จะทำให้ผู้ซื้อไม่มองเรื่องราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการซื้อเพราะมีเรื่องราวน่าสนใจ ซึ่งตนเองได้สร้างผลงาน และส่งออกต่างประเทศจำนวนมาก เช่น การนำเศษหนังมาทำกระเป๋า ช่วยสร้างมูลค่าให้กระเป๋ามีราคาถึง 20,000 บาท เป็นต้น และเร็ว ๆ นี้ตนเองจะจัดงานแสดงแฟชั่นผ้า และสินค้าชุมชนกลางทุ่งนา เป็นครั้งแรกอีกด้วย