xs
xsm
sm
md
lg

คิกออฟ! รถไฟไทย-จีน 3.5 กม. ทล.จัด 5 ทีม ระดม 100 ชีวิต เริ่มต้นถมคันดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม. รับทราบ เริ่มต้นก่อสร้างรถไฟไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ด้าน ร.ฟ.ท. เร่งทำ MOU จ้างกรมทางหลวงปรับคันทาง วงเงิน 425.94 ล้านบาท โดย 21 ธ.ค. “นายกฯ” เป็นประธานพิธีเริ่มต้น ณ มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง อธิบดีกรมทางหลวง เผย ระดมทีมงาน 100 คน จัดทีม 5 ชุด พร้อมเครื่องมือ เร่งเสร็จใน 6 เดือน เผย งานถมคันดินสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 12 เมตร หรือเท่ากับถนนขนาด 3 ช่องจราจร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ได้รับทราบผลการดำเนินงานและความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ซึ่งจะเริ่มต้นก่อสร้างตอนแรก ช่วงสถานีกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ในวันที่ 21 ธ.ค. 2560
โดยตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. เป็นทางระดับดิน โดย ร.ฟ.ท. จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมทางหลวง ให้เป็นผู้ก่อสร้าง ในวันที่ 20 ธ.ค. และจะเริ่มต้นก่อสร้างในวันที่ 21 ธ.ค. วงเงิน 425.94 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา 414 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 11.94 ล้านบาท ซึ่งระยะทาง 3.5 กม. จะใช้เป็นต้นแบบในการเปิดประมูลก่อสร้างใน ตอนที่ 2, 3, 4 ต่อไป ด้วยวิธีประกวดราคาตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

“เทคนิคการก่อสร้างไม่ต่างจากการก่อสร้างงานของกรมทางหลวง ขณะที่จีนได้ออกแบบเป็นมาตรฐานสากล ซึ่ง ร.ฟ.ท. และ ทล. ได้ร่วมกันถอดแบบและราคา ซึ่งระยะทาง 3.5 กม. จะใช้เป็นต้นแบบในการเปิดประมูลก่อสร้างใน ตอนที่ 2, 3, 4 ต่อไป ส่วนระยะที่ 2 จากนครราชสีมา - หนองคาย นั้น ได้หารือกับจีนว่าไทยจะออกแบบเอง โดยใช้ผลศึกษาที่ ร.ฟ.ท. มี นำเสนอ ครม. ขออนุมัติเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและรวดเร็ว เชื่อว่า ทางเทคนิคทำได้เนื่องจากสภาพเส้นทางเป็นทางราบมากกว่าภูเขา” นายอาคม กล่าว

***กรมทางหลวง จัดทีมงาน 4 ชุด 100 ชีวิต พร้อมเครื่องมือ ก่อสร้างใน 6 เดือน

ด้าน นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของกรมทางหลวงในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย - จีน เส้นทางกรุงเทพฯ - หนองคาย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่จะเริ่มก่อนในช่วงสถานีกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ว่า กรมทางหลวงได้เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรและบุคลากรในการดำเนินโครงการดังกล่าวตามที่ได้รับผิดชอบจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงได้จัดตั้ง คณะทำงาน 5 ชุด เพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานพิเศษเฉพาะกิจ โดยรวบรวมบุคลากร 100 คนมาก่อสร้าง

โดยคณะทำงานแรกเป็นด้านตรวจสอบวัสดุงานทาง คณะทำงานที่ 2 บริหารก่อสร้างโครงการก่อสร้างพิเศษร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะทำงานที่ 3 ดำเนินการด้านสำรวจและออกแบบ คณะทำงานที่ 4 จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมทางหลวงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะที่ 5 ทำงานด้านการก่อสร้าง

ซึ่งบุคลากรกรมทางหลวงคัดมาจาก สำนักก่อสร้างทางที่ 1 และ 2 และสำนักก่อสร้างสะพาน โดยรูปแบบการก่อสร้าง จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับงานก่อสร้างถนนที่กรมทางหลวงดำเนินการ โดยจะเป็นงานถมคันทางสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 12 เมตร หรือเท่ากับถนนขนาด 3 ช่องจราจร ตลอดระยะทาง 3.5 กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งกรมจะเร่งงานก่อสร้าง เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะเป็นมาตรฐาน และให้เป็นแบบอย่างสำหรับงานอีก 3 ช่วงที่เหลือ ที่สำคัญที่สุด กรมทางหลวงได้วัสดุต่างๆ ในการดำเนินการเกือบทั้งหมดเป็นวัสดุภายในประเทศ มีเพียงบางชนิดต้องใช้ของประเทศจีน นอกจากนี้ ยังเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวิศวกรชาวไทยและจีน ทั้งนี้ จะมีพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ณ มอหลักหิน ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

กำลังโหลดความคิดเห็น