xs
xsm
sm
md
lg

GPSC จับมือ NNCL ทำโซลาร์รูฟ-สมาร์ทกริด ทุ่ม 50 ล้านดอลล์ตั้ง รง.นำร่องผลิตแบตเตอรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


GPSC เซ็นสัญญา NNCL พัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อป และพัฒนาระบบการเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ในอนาคต โดยปีหน้าประเดิม 3 โครงการรวม 2.5-2.7 เมกะวัตต์ ซึ่งนวนครมีศักยภาพติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 50 เมกะวัตต์ เผยบอร์ด GPSC ไฟเขียวตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ มูลค่าลงทุน 50 ล้านเหรียญ คาดแล้วเสร็จปี 62

วันนี้ (15 ธ.ค.) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ( NNCL) เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) พัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) และพัฒนาระบบการเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ (SMART GRID) ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร นับเป็นรายแรกของไทย โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2561 

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคกลุ่ม ปตท.เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามข้อตกลงร่วมนวนครเพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อป พัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน และพัฒนาระบบการเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยเบื้องต้นพบว่าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ที่ปทุมธานี มีศักยภาพในการทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปได้ราว 50 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท

โดยปีหน้าบริษัทฯ จะลงทุนโครงการนำร่องในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 3 โครงการที่โรงบำบัดน้ำเสีย โรงผลิตน้ำอุตสาหกรรม และโรงงานลูกค้า 1 ราย คิดเป็นกำลังผลิตรวม 2.5-2.7 เมกะวัตต์ และจะมีการนำ Energy Storage System และระบบ SMART GRID มาใช้นับเป็นโครงการต้นแบบรายแรกของไทยที่ผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้กักเก็บไฟฟ้าเป็นรายเดียวกัน เชื่อว่าหากประสบความสำเร็จลูกค้าในนิคมฯ จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเชื่อมระบบไปสู่สมาร์ทกริด

“การลงนามในครั้งนี้เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโซลาร์รูฟท็อป เพื่อเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าอัจฉริยะที่ทาง NNCL ไว้วางใจเลือก GPSC เพราะเรามีความพร้อมและมีศักยภาพในการดำเนินงานเนื่องจากเป็นผู้นำในธุรกิจด้านพลังงาน (Power Flagship) ของกลุ่มบริษัท ปตท.ที่เล็งเห็นความสำคัญของนโยบายกระทรวงพลังงานในการบริหารจัดการ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อมโดยจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” นายเติมชัยกล่าว
 
นอกจากนี้ บริษัทฯ วางแผนที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนที่จะผลักดันให้มีการใช้ในโครงการนำร่องในช่วงปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาระบบธุรกิจไฟฟ้าของโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล เป็นต้น

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติการลงทุนโครงการนำร่องผลิตแบตเตอรี่กำลังผลิต 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใช้เงินลงทุน 50ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562

หากโครงการดังกล่าวสามารถผลิตแบตเตอรี่ในต้นทุนที่ต่ำ 100 เหรียญสหรัฐ/กิโลวัตต์ชั่วโมง ก็จะตัดสินใจลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ ยอมรับว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังไม่นิ่ง ทำให้โครงการมีความเสี่ยง

“ปัจจุบัน Smart Grid ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในยุคพลังงานสะอาด อย่างแสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ  เพราะจะเข้ามาช่วยจัดการการผลิต จัดเก็บ และจัดสรรพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายเติมชัยกล่าว
 
นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมนวนคร มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้า SPP กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาขายไฟให้ กฟผ.90 เมกะวัตต์ ที่เหลือจำหน่ายในนิคมฯ ซึ่งไม่เพียงพอจึงตัดสินใจขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเสร็จใน 2563 ดังนั้น หากมีกำลังการผลิตโซลาร์รูฟท็อปอีก 50 เมกะวัตต์ เท่ากับนวนครมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 145 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด ทางบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับ GPSC ในการจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นในการศึกษาความเป็นไปได้ของลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม นวนครและจะพิจารณาจัดสรรพื้นที่เหมาะสมให้ GPSC ดำเนินโครงการพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร เพื่อที่จะยกระดับไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น