xs
xsm
sm
md
lg

ประเด็นสำคัญที่หายไป...กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
----------------------------------------------------------------------
ข้อถกเถียงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาได้กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากชาวบ้านกลุ่มคัดค้านในนาม “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ถูกตำรวจและทหารจับกุมขณะเดินทางจะไปขอยื่นจดหมายและพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในครั้งถัดมาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีระบบการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆนานา แต่มีประเด็นสำคัญที่นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึงคือ กำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเหลือล้นเกินมาตรฐานสากลหรือไม่

อนึ่ง ทางกลุ่มนักวิชาการที่ใช้ชื่อว่า “ชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยอ้างว่า “หากโรงไฟฟ้าเทพาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน จะมีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ในภาคใต้ขั้นรุนแรง” แต่นักวิชาการกลุ่มนี้ก็ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลประกอบความเห็นของตนแต่อย่างใด

บทความนี้จะเน้นเรื่องความพอหรือไม่พอของกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ แต่เนื่องจากระบบไฟฟ้าในประเทศไทยเชื่อมโยงถึงกันหมด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงภาพรวมของกำลังการผลิตทั้งประเทศก่อน ผมจะค่อยๆ ลำดับให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ นะครับ

1. กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเหลือเกินมาตรฐานสากลมากกว่า 2 เท่าตัว

เรื่องประเทศเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกิน รัฐมนตรีพลังงานในขณะนั้น (พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์) ได้ออกมายอมรับ (6 ต.ค. 59) ว่าประเทศไทยมีกำลังผลิตสำรองเกิน 30% แต่ไม่ได้บอกว่าเกินมาเท่าใด (มาตรฐานสากลสำรองประมาณ 15%) ผมได้นำเสนอรายละเอียดในแผ่นภาพครับ
 

 
อดีตรัฐมนตรีพลังงานท่านนี้กล่าวว่า “ทางกระทรวงมีแผนจะลดกำลังสำรองให้เหลือแค่ 15% ภายในปี 2563 โดยชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้”

ข้อมูลที่ทาง กฟผ. ได้ชี้แจงต่อสาธารณะได้ละเอียดมากขึ้น พบว่า ในช่วงปี 2559-2567 สำรองจะอยู่ระหว่าง 34-39% ดังรูปครับ
 

 
แต่ตัวเลขที่ได้กำหนดไว้ในแผนอยู่บนสมมติฐานที่ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปี (2558-2579) เท่ากับ 3.94% แต่เมื่อผ่านมาแล้ว 3 ปี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับต่ำกว่าแผนค่อนข้างมาก ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ไฟฟ้าสำรองจึงน่าจะสูงกว่าที่ได้กำหนดไว้ในแผนดังรูป

ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นแทบทุกเดือน ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าก็ลดลงเนื่องจากมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น ทั้งจากมหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม และโรงพยาบาล จนเป็นข่าวที่ฮือฮากันมากว่า “รัฐบาลจะเก็บภาษีแดด” จึงเป็นที่สงสัยกันว่ากระทรวงพลังงานจะหาทางลดไฟฟ้าสำรองลงได้อย่างไร

ล่าสุด (8 ธันวาคม 60) ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ ได้เสนอข่าวว่า ทาง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ว่า “ยันโครงการโรงไฟฟ้า IPP รวม 5,000 เมกะวัตต์ยังเดินหน้าตามแผนที่วางไว้”(https://www.ryt9.com/s/iq10/2752189

ผมคิดว่า ทางบริษัทได้ถือไพ่ที่เหนือกว่า เพราะได้ทำสัญญาไว้แบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ไว้แล้ว โดยจะทยอยเดินไฟฟ้าในปี 2564-2567 ทางออกของกระทรวงพลังงานคือการนำไฟฟ้าไปขายต่างประเทศผ่านสายส่งภายในประเทศ

ภาพข้างล่างนี้คือการลงนามในสัญญา เมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนำไฟฟ้าจากประเทศลาวไปขายสิงคโปร์ ภายใต้โครงการ LTM-PIP โดยในระยะแรกจะขายจำนวน 100 เมกะวัตต์
 

 
โดยในเดือนมกราคม 2560 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เปิดประมูลก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงรวม 55 สัญญา ด้วยงบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท (https://www.thailand-construction.com/egat-to-open-bids-on-high-voltage-lines/)

2. กำลังการผลิตในภาคใต้ไม่พอจริงหรือ


ในพื้นที่ภาคใต้นอกจากจะมี “โรงไฟฟ้า” เหมือนภาคอื่นๆ แล้วยังมีระบสายส่งที่เรียกว่า “HVDC” กับประเทศมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์ เพื่อแลกไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงทางไฟฟ้าซึ่งกันและกัน ซึ่งได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 แต่ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมามีการเดินไฟฟ้าจริงเพียงประมาณ 30 เมกะวัตต์ หรือเพียง 10% ของแผนเท่านั้น แม้ในวันที่เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ระบบนี้ก็ไม่สามารถส่งไฟฟ้ามาช่วยได้มากกว่า 30 เมกะวัตต์ ด้วยเหตุผลว่าระบบขัดข้อง

แต่แล้วเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ ประเทศไทยได้ส่งไฟฟ้าไปให้มาเลเซียถึง 101 เมกะวัตต์ (ดูรูปประกอบ) มากกว่าปกติที่เคยทำถึงกว่า 3 เท่าตัว เกิดอะไรขึ้น หรือว่าการผลิตไฟฟ้าในมาเลเซียมีปัญหา
 

 
หรือว่าการขายไฟฟ้าจากประเทศลาว (ซึ่งบริษัทไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่) ให้ประเทศสิงคโปร์ได้เกิดขึ้นแล้ว

และสิ่งที่ผมสงสัยมานานแล้วก็คือ ถ้าสามารถเพิ่มจากประมาณ 31 เมกะวัตต์เป็น 101 เมกะวัตต์ ก็น่าจะเพิ่มได้มากกว่านี้อีก ให้ใกล้เคียงกับกำลังสูงสุดคือ 300 เมกะวัตต์

สมมติว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอจริงๆ แล้วทำไมไม่เอาไฟฟ้าส่วนที่จะขายให้กับสิงคโปร์ (ผ่านสายส่งประเทศมาเลเซีย) ไปป้อนให้ภาคใต้ก่อน 

ในทำนองเดียวกัน ในทุกภาคของประเทศก็มีสายส่งแรงสูงเชื่อมถึงกันหมด มีการส่งไฟฟ้าไป-มาถึงกันทุกภาค (สังเกตลูกศรในภาพ) ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ภาคใต้เพียงภาคเดียวที่ถูกอ้างอย่างมีนัยซ่อนเร้นว่า “โรงไฟฟ้าไม่พอ” 

ที่กล่าวว่ามีนัยซ่อนเร้น เพราะว่าพื้นที่ภาคใต้ติดทะเลมีความสะดวกในการขนส่งถ่านหินและปล่อยน้ำเสียลงทะเลได้สะดวกกว่าภาคอื่นนั่นเอง 

ภาพข้างล่างนี้แสดงกำลังของสายส่งแรงสูงที่เชื่อมระหว่างภาคกลางกับภาคใต้รวมทั้งกำลังการผลิตอื่นๆ ในภาคใต้ ผมก็ไม่เข้าใจ (จริงๆ) เช่นกันว่า สายส่งกำลัง 1,050 เมกะวัตต์ แต่มีมาตรฐานความมั่นคงแค่ 600 เมกะวัตต์ (ดูภาพประกอบ)
 

 
โปรดสังเกตนะครับว่า ในสถานการณ์ที่แหล่งก๊าซเจดีเอ (พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) หยุดซ่อม (แล้วใช้น้ำมันแทน 1 โรง) กำลังการผลิตรวมในภาคใต้ยังเท่ากับ 3,102 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการสูงสุดปี 2558 เท่ากับ 2,425 เมกะวัตต์ ถ้าคิดไฟฟ้าสำรอง (อย่างง่ายๆ) ก็เท่ากับว่ามีสำรองถึง 28%

ถ้าในช่วงที่มีการหยุดซ่อมซึ่งเกิดขึ้นปีละประมาณ 10 วัน เราเอาส่วนที่นำไปขายให้สิงคโปร์มาใช้ในภาคใต้ไม่ได้หรือ ซึ่งตอนนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถเพิ่มได้เกิน 100 เมกะวัตต์ สำรองก็จะเพิ่มเป็น 31% 

นี่ขนาดหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ขนาด 766 เมกะวัตต์ไปแล้วนะ

ข้อมูลในตารางข้างต้น ยังไม่ได้รวมโรงไฟฟ้าชีวมวลและไบโอก๊าซอีก 176 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทนี้สามารถกำหนดเวลาการผลิตได้ ต่างจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ 

พูดถึงกังหันลม ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีความสูงของเสา 137 เมตร จำนวน 70 ตัวรวม 126 เมกะวัตต์ ผมสังเกตอยู่หลายวันพบว่า แม้ดูด้วยตาว่าความเร็วลมต่ำเพราะยอดมะพร้าวไม่ไหว แต่กังหันลมซึ่งอยู่สูงกว่าก็ยังหมุน เท่าที่ผมทราบโครงการนี้สามารถขายไฟฟ้าได้วันละ 10-13 ล้านบาท (รวม Adder) และสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 ปีเท่านั้น

ผลงานวิจัยร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานกับองค์กรระหว่างรัฐบาล (IRENA) เมื่อปี 2017 พบว่าประเทศไทยมีความเร็วลมที่ความสูง 90 เมตรเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 6 เมตรต่อวินาที (ดาวน์โหลดรายงานได้ที่ https://irena.org/publications/2017/Nov/Renewable-Energy-Outlook-Thailand) ซึ่งเป็นความเร็วลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ดี 

3. ต้นทุนพลังงานลม โซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ราคาลดลงมาก

รัฐบาลนี้ชอบพูดถึง “ประเทศไทย 4.0” แต่ไม่ยอมพูดถึง “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนกับเทคโนโลยีการสื่อสารมาบรรจบกัน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนลดต่ำลงอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง การบริหารจัดการก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น อำนาจในการผลิตไฟฟ้าที่เคยอยู่ในมือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มานับ 100 ปี ก็ได้เปิดโอกาสให้กับคนธรรมดาๆ ในครัวเรือน

ภาพข้างล่างนี้ (บทความนี้มีภาพมากหน่อย เพราะต้องการเป็นหลักฐานอ้างอิงให้ค้นคว้าเพิ่มเติมได้) พบว่าที่รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกามีการประมูลขายไฟฟ้าซึ่งเป็นโซลาร์เซลล์ขนาด 100 เมกะวัตต์ สามารถเดินไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่

ราคาไฟฟ้าตลอด 20 ปีเท่ากับ 1.47 บาทต่อหน่วย โปรดอ่านอีกครั้งครับ
 

 
สำหรับทางขวามือของภาพ เป็นโครงการที่เพิ่งเดินไฟฟ้าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ขนาด 30 กิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุน 7.2 แสนบาท ลดลงกว่า 100% เมื่อเทียบกับที่ติดตั้งที่วัดยานนาวาเมื่อปี 2558 

คิดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเฉลี่ย (LCOE) ตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.66 บาทต่อหน่วย แต่ไม่มีแบตเตอรี่เก็บ

ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ แห่งโรงเรียนศรีแสงธรรม ได้กรุณาเล่าให้ผมฟังว่า ราคาแบตเตอรี่ (ลิเทียม) ขนาด 5 กิโลวัตต์ ราคา 73,000 บาท สามารถเก็บไฟฟ้าได้ตลอดอายุการใช้งาน 15 ปีด้วยต้นทุนเฉลี่ย 2.87 บาทต่อหน่วย และในอนาคตจะถูกกว่านี้อย่างรวดเร็ว

นี่เป็นราคาจำนวนชิ้นเดียว ขนาดเล็ก ถ้าซื้อจำนวนมาก ขนาดใหญ่ระดับเชิงพาณิชย์ก็น่าจะลดลงอีกเยอะมาก 

ในขณะที่ราคาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี 2558 เท่ากับ 2.67 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

แต่ราคาที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (จากแสงอาทิตย์และลม) รวมแบตเตอรี่กลับมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว และถูกกว่าที่ทาง กฟผ.เสนอ

4. สรุป

โดยสรุป ทั้งประเทศไทยไทยและภาคใต้ เรามีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินมาตรฐานถึงกว่า 2 เท่าตัว ในขณะที่เทคโนโลยีพลังงานลมและแสงแดดรวมแบตเตอรี่ได้ลดลงจนถูกกว่าราคาจากถ่านหินในปัจจุบันแล้ว แต่ทำไมประเด็นสำคัญอย่างนี้จึงได้หายไปจากความสนใจของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน รวมถึงสื่อมวลชน

นอกจากพลังงานหมุนเวียนจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การทำมาหากินของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน และกระจายรายได้ รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รัฐบาลนี้ได้ลงนามไว้ด้วย

ทยอยเลิกเถิดครับ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เครื่องจักรไอน้ำที่เป็น “อุตสาหกรรม 1.0” ซึ่งล้าหลัง แต่เทคโนโลยีโซลาร์และกังหันลมเป็นทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งทันสมัยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลย ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำครับ

 
กำลังโหลดความคิดเห็น