สนพ.มอบหมายสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดตามการทำงานและสำรวจระบบผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มปศุสัตว์จำนวน 310 แห่ง พบว่าระบบก๊าซชีวภาพยังอยู่ในเกณฑ์ใช้งานได้ดี แต่หากปรับปรุงเพิ่มจะประหยัดพลังานได้อีกกว่าปีละ 24 ล้านบาท ด้าน พพ.เตรียมปรับแผนอนุรักษ์พลังงานด้านขนส่ง
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการตรวจเยี่ยม และสำรวจโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก และโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีอายุการใช้งานของระบบฯ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 310 แห่ง เพื่อให้คำแนะนำและฝึกอบรม การดูแลแก้ไขปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบให้แก่ผู้ประกอบการฟาร์มแบบ Onsite Training โดยเริ่มเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่าสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้รวมทั้งสิ้น 24,966,810 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
โดยแบ่งเป็นกลุ่มฟาร์มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบสูงกว่า 80% ของกำลังการผลิต จำนวน 194 ฟาร์ม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 15,704,040 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และกลุ่มฟาร์มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต จำนวน 116 ฟาร์ม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 9,262,770 ลูกบาศก์เมตรต่อปี อย่างไรก็ตาม หากฟาร์มที่อยู่ในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของระบบฯ ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตสามารถปรับปรุงระบบตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่ได้เข้าฝึกอบรมและทำให้ระบบมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของกำลังการผลิต จะทำให้สามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพิ่มขึ้นอีก 3,089,290 ลูกบาศก์เมตร/ปี เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 6,178,580 หน่วย/ปี หรือคิดเป็น 24,096,462 บาท/ปี (ค่าไฟฟ้า 3.9 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง) เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้า 531 ตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี
“กองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานได้สนับสนุนโครงการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เริ่มตั้งแต่ปี 2538-2556 มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,164 ฟาร์ม ซึ่งบางฟาร์มมีอายุการใช้งานระบบยาวนานกว่า 10 ปี ทำให้มีประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพลดลง ดังนั้นจึงได้ทำการสำรวจและให้คำแนะนำดังกล่าว” นายทวารัฐกล่าว