xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.พลังงาน” ขอเวลาคิดให้รอบคอบประมูลเอราวัณ-บงกช/โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงานย้ำประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกช เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ก่อนจะเปิด TOR ให้เอกชนมายื่นประมูลทุกอย่างต้องชัดเจนก่อน รับ TOR ไม่ทันสิ้นปีนี้ แต่ทุกอย่างจะจบภายใต้โรดแมปรัฐบาล 1 ปีแน่นอน ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินขอเวลาเคลียร์ 3-6 เดือนได้ข้อสรุปแน่

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หน้าที่กระทรวงพลังงานมีอยู่มากในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายส่วน ดังนั้นจะเปิดกว้างรับความเห็นจากทุกส่วนในการนำมาสู่การพิจารณาตัดสินใจเพื่อจะสามารถตอบสังคมส่วนรวมได้ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสรุปคือการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุปี 2565-66 คือแหล่งเอราวัณและบงกชที่ต้องนำมาประมูลและใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) จากเดิมระบบสัมปทานซึ่งทั้งการประมูลและระบบ PSC ล้วนเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่จะต้องเรียนรู้กัน จึงต้องตกผลึกและชัดเจนทุกด้านก่อนจะเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นประมูล ซึ่งการดำเนินงานจะอยู่ภายใต้กรอบโรดแมปของรัฐบาล 1 ปี

“ร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) เพื่อเปิดให้เอกชนยื่นประมูลคงจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ได้หากรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ชัดเจน โดยแบบสัญญา PSC เองก็อยู่ระหว่างการทบทวนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะเข้า ครม.แน่นอนว่าทุกอย่างต้องตกผลึกให้ได้ก่อน เช่น การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมด้วยว่าจะทำอย่างไร จะทำปะการังเทียมหรืออะไร ทุกชิ้นส่วนต้องประกอบลงตัว ถ้าไม่ลงตัวก็จะสุ่มเสี่ยงมาก ซึ่งผมขอความกรุณาว่าอย่าไปใช้คำว่าเลื่อนประมูล อะไรทุกอย่างชัดเจนจะชัดเจนแน่และต้องไปในทิศทางที่สำเร็จ ไม่ใช่ล้มประมูล” นายศิริกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้นก็คงจะทำควบคู่กันไปแต่ก็จะให้ความสำคัญต่อการประมูลเอราวัณและบงกชก่อน ส่วนความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP-2015) จะสรุปใน 3-6 เดือนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาที่ภาคใต้ ซึ่งยอมรับว่าภาคใต้มีความจำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับความมั่นคงเนื่องจากท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างมาก ทำให้ต้องใช้ไฟที่สูงขึ้นแต่ประเภทเชื้อเพลิงจะเป็นชนิดใดนั้นก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพลังงานช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 1 แสนตัน จากที่ประเทศไทยมีสต๊อกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.4 แสนตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตัน/ปี เป็น 2.4 ล้านตัน/ปีนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการภายใน 1-2 เดือน โดยจะไม่ใช้แนวทางนำไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ เพราะภาพรวมแล้วมีผลกระทบมากกว่าผลดี เพราะที่ผ่านมาจากการเก็บตัวเลขพบว่าการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ 35 ล้านบาท แต่ต้องเสียค่าดำเนินการรวมถึง 400 ล้านบาท

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะช่วยในเรื่องการนำมาใช้เป็นสต๊อกในไบโอดีเซล หรือ บี 100 ให้มากขึ้น

“จะมีการหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ผลิตบี 100 ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อราคาน้ำมันให้น้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการผสมน้ำมัน โดยที่ไม่ต้องเพิ่มส่วนผสมจากปัจจุบันที่เป็นบี 7 หากสามารถใช้บี 7อย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถใช้ซีพีโอได้ถึง 1.2 ล้านตัน/ปี” นายศิริกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น