xs
xsm
sm
md
lg

“อารีพงศ์” จ่อดัน กฟผ.ใช้น้ำมันปาล์มดิบที่โรงไฟฟ้ากระบี่แก้ราคาตกต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อารีพงศ์” แย้มอาจให้ “กฟผ.” ซื้อน้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟที่โรงไฟฟ้ากระบี่เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มในระบบหลังสต๊อกเริ่มสูงหากสถานการณ์ราคายังไม่ดีขึ้น หลังมอบให้ผู้ค้าน้ำมันเร่งสต๊อกบี 100 แล้ว พร้อมถกกระทรวงเกษตรฯ เร็วๆ นี้ถึงแผนพัฒนาปาล์มอย่างเป็นระบบเพื่อปรับให้สอดรับกับแผน AEDP ด้านเกษตรกรหนุนให้ใช้ในโรงไฟฟ้ากระบี่ทันที

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาปาล์มตกต่ำที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมบี 100 ในดีเซล 7% เพื่อจำหน่ายไบโอดีเซลบี 7 ซึ่งถือว่าเต็มเพดานตามกำหนดแล้วล่าสุดยังได้ให้ทางผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เร่งสต๊อกบี 100 ไว้เพื่อช่วยยกระดับราคาปาล์ม ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็เตรียมที่จะมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งอดีตเคยดำเนินการมาแล้ว

“ที่ผ่านมาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ระดับ 2.5 แสนตัน และล่าสุดได้ขยับมาสู่ระดับ 3 แสนกว่าตัน ทางกระทรวงพาณิชย์จึงขอให้เราช่วยดูดซับโดยคงบี 7 ไว้และให้ผู้ค้าเร่งสต๊อกเพิ่มซึ่งขณะนี้ผู้ค้าได้ทยอยสต๊อกเพิ่มแล้ว และหากที่สุดยังไม่ดีขึ้นก็อาจให้นำไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ แต่ยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟจะสูงขึ้นจุดนี้เองก็กำลังดูอยู่” นายอารีพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มเป็นพลังงานทดแทนดีเซล ซึ่งตามแผน AEDP 2015 ในระยะยาวของกระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลไว้วันละ 14 ล้านลิตรในปี 2579 นั้นแผนดังกล่าวอาจจะมีการปรับให้สอดคล้องกับแผนอื่นๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน 3 กระทรวง ทั้งพลังงาน พาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อทำให้นโยบายมีความยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกปาล์มที่จะต้องเพียงพอไม่กระทบต่อปาล์มเพื่อการบริโภค รวมถึงการโซนนิ่งพื้นที่ และการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและปาล์มน้ำมันแห่งชาติจะมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานดังกล่าว แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจน

นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐจะมอบให้ กฟผ.นำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ทันที ซึ่งราคาเมื่อเทียบกับน้ำมันเตาขณะนี้ถือว่าไม่ได้ต่างกันมากนักเพื่อที่จะดูดซับปริมาณปาล์ม ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 แนวทางที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มเคยทำหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วว่าคัดค้านการแทรกแซงราคาปาล์มเพราะประโยชน์ไม่ตกถึงเกษตรกร โดยให้ดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1. การให้ กฟผ.นำไปผลิตไฟ 2. การให้ผู้ค้าน้ำมันโดยเฉพาะ บมจ.ปตท. และบางจากสต๊อกบี 100 และ 3. ให้ประกาศนโยบายเพิ่มการผสมบี 7 เป็นบี 10

“ขณะนี้สต๊อก CPO เมษายนอยู่ที่ 3.3 แสนตัน และคาดว่า พ.ค.นี้น่าจะขึ้นสู่ระดับ 3.8 แสนตัน โดยราคาผลปาล์มทะลายขณะนี้อยู่ที่ 3.50-3.70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขยับขึ้นมาจาก 3 บาทต่อ กก. ขณะที่ CPO ขึ้นมาอยู่ที่ 22.50-23 บาทต่อลิตร หลังจากที่กระทรวงพลังงานปรับเป็นบี 7 และให้มีการสต๊อกบี 100 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องการเห็นคือราคาที่ควรแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่ามาเลเซียราคา CPO อยู่ทีเพียง 20 บาทต่อลิตร แต่กลับซื้อราคาปาล์มทะลายได้ 4.60 บาทต่อ กก. ซึ่งตรงข้ามกับไทย จึงเป็นเหตุให้อ้างมีการนำเข้ามาเพราะราคาถูกกว่าแล้วก็มากดราคาปาล์มในประเทศอีกที ต่อไปปาล์มจะมีผลผลิตมากขึ้นปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น” นายชโยดมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น