“คมนาคม” แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟล่าช้า หลัง ร.ฟ.ท.ไม่อนุญาตให้ผู้รับเหมากรมทางหลวงเข้าพื้นที่สร้างสะพานข้ามรถไฟที่ จ.สุราษฎร์ฯ เคลียร์ชัดตอม่อห่าง 25 เมตรไม่กระทบรถไฟทางคู่และความเร็วสูง พร้อมเร่งอนุญาตหวั่นกระทบเบิกจ่ายงบล่าช้า
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงการจุดตัดทางรถไฟสายใต้ช่วงสถานีสุราษฎร์ธานี (สถานีพุนพิน)-สถานีเขาหัวควาย กับทางหลวงสายท่าโรงช้าง ซึ่งเป็นการก่อสร้างสะพาน ณ จุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 401 กับทางรถไฟที่ กม.6+929.600 ซึ่งกรมทางหลวงได้ประมูลหาผู้รับเหมาแล้วตั้งแต่กลางปี 2560 แต่ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยังไม่อนุญาต
ร.ฟ.ท.เห็นว่าแบบของสะพานที่มีระยะห่างระหว่างตอม่อ 25 เมตร อาจกระทบต่อแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะ 2 และรถไฟความเร็วสูง ควรเพิ่มระยะห่างตอม่อเป็น 30 เมตร ซึ่งหลังจากที่ ร.ฟ.ท.และ ทล.ได้ลงพื้นที่ร่วมกันได้ข้อยุติร่วมกันในจุดดังกล่าวแล้วไม่ต้องปรับแบบใหม่ และ ร.ฟ.ท.จะเร่งอนุญาตให้ผู้รับเหมาของ ทล.เข้าพื้นที่ภายในเดือน ธ.ค.นี้
เรื่องเดิมของการก่อสร้างสะพานจุดตัดทางรถไฟนั้นตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2553 ว่า กรณีของโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง จุดตัดกับถนนซึ่งจะต้องก่อสร้างเป็นสะพาน หรือทางลอดนั้น ให้ ร.ฟ.ท.รวมไว้ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ส่วนจุดตัดในรถไฟทางคู่ระยะ 2 ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทออกแบบและรับผิดชอบก่อสร้างไปก่อน ซึ่งทั้ง 2 หน่วยได้มีการออกแบบระยะห่างของตอม่อสะพานข้ามทางรถไฟที่ 25 เมตร และได้ทยอยจัดสรรงบประมาณเข้าไปดำเนินงานแล้วตั้งแต่ปี 2559 เมื่อประมูลและลงนามกับผู้รับเหมาแล้วต้องขออนุญาต ร.ฟ.ท.ในการเข้าพื้นที่ แต่มีบางจุดยังไม่ได้รับอนุญาต เพราะ ร.ฟ.ท.ระบุว่าระยะห่างตอม่อต้องเป็น 30 เมตร เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ระยะ 2 และรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงหารือในหลักการเพื่อแก้ปัญหาและไม่ให้การเบิกจ่ายของกรมทางหลวงและทางหลวงชนบทล่าช้า โดยกรณีที่มีการออกแบบจุดตัดไว้แล้ว ให้ ทล., ทช. และ ร.ฟ.ท.หารือร่วมกัน หากไม่กีดขวางซึ่งกันและกัน ให้ ร.ฟ.ท.อนุญาต ไม่จำเป็นต้องปรับแบบสะพานข้ามให้มีระยะตอม่อเป็น 30 เมตรทุกแห่ง เพราะจะทำให้เสียเวลาและมีค่าก่อสร้างเพิ่ม ส่วนจุดที่จะออกแบบหลังจากนี้ให้ใช้ระยะห่างตอม่อที่ 30 เมตรเป็นหลัก รวมถึงกรณีที่มีค่าใช้จ่ายการรื้อย้ายอุปกรณ์หรือเครื่องมือของ ร.ฟ.ท. และยังประเมินไม่เสร็จ ให้แจ้งภายหลังได้ โดยให้เร่งอนุญาตให้เข้าพื้นที่ไปก่อน
สำหรับโครงการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 9 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 18 แห่ง ประมูลเสร็จแล้วเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้าง 12 แห่ง และอยู่ระหว่างประมูล 1 แห่ง ส่วนของกรมทางหลวงมี 15 แห่ง