“คมนาคม” เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติปรับการประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ก่อนลงนามสัญญาผู้รับเหมา กรณีแยกงานโยธาและอาณัติสัญญาณออกเป็น 13 สัญญา จากเดิม 1 สายต่อ 1 สัญญา ซึ่งเป็นไปตามมติซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ ยันค่าก่อสร้างรวมไม่เกินกรอบ 9 หมื่นล้านที่เคยอนุมัติไว้ แม้จะมีการปรับแบบทางยกระดับช่วงโคราช
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้สรุปภาพรวมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง เพื่อเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงรายงานการปรับรายละเอียดการดำเนินโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ภายหลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการแบ่ง 5 เส้นทางออกเป็น 13 สัญญา โดยสัญญางานโยธาและระบบรางมี 9 สัญญา งานก่อสร้างอุโมงค์ 1 สัญญา และงานระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญา ตามที่คณะกรรมการการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) ได้ปรับวิธีการประมูล โดยแยกงานโยธาออกจากงานระบบอาณัติสัญญาณเพื่อปิดทางให้ผู้รับเหมารายกลางได้มีโอกาสเข้าร่วมประมูล ซึ่งทำให้ไม่ตรงกับที่ ครม.มีมติไว้ จึงต้องเสนอ ครม.ใหม่
พร้อมกันนี้ จะรายงาน ครม.ให้รับทราบข้อเท็จจริงการปรับแบบรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางจิระ เป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 5 กม. ช่วง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่มประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ ครม.สัญจรที่โคราชได้เห็นชอบการปรับแบบไปแล้ว และ ร.ฟ.ท.กำลังดำเนินการออกแบบรายละเอียดใหม่
ทั้งนี้ แม้จะมีการแบ่งสัญญาออกเป็น 13 สัญญาและปรับแบบช่วงโคราชของสายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ รวมถึงมีการเพิ่มค่าที่ปรึกษาตามงานที่แยกออกมาก็ตาม แต่วงเงินค่าก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทางยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ 9 หมื่นกว่าล้านบาท ไม่มีการเสนอขอเพิ่มงบรวมแต่อย่างใด
โดยขณะนี้งานโยธา 10 สัญญาได้ประมูลเสร็จแล้ว 9 สัญญา ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เสนอไปที่ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อฯ พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนกระทรวงคมนาคมจะสรุปคู่ขนานเพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป จากนั้นจึงจะลงนามสัญญาก่อสร้างได้