xs
xsm
sm
md
lg

เวนคืน 45 ราย รถไฟความเร็วสูง เชื่อมเข้าสุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท. เตรียมสรุปผลศึกษา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ ชง คณะ กก. EEC พ.ย. นี้ ค่าก่อสร้างกว่า 2 แสน ล. เปิดหาผู้ประกอบการ ภายในต้นปี 61 ก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 66 ต้องออกแบบและศึกษา EIA ทางเชื่อมเข้าสุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา เพิ่ม ประเมินเวนคืนไม่น้อยกว่า 42 ราย

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน ต.ค. นี้ จะสรุปผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายในเดือน พ.ย. นี้ โดยตั้งเป้าจะเร่งรัดการดำเนินงานกระบวนการทำงานแบบ fast track เพื่อให้ได้ตัวผู้รับสัมปทานบริหารโครงการในเดือน ม.ค.- ก.พ. 2561

ทั้งนี้ ในการบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ จะเป็นผู้ประกอบการรายเดียว ซึ่งจะรับบริหารโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท - มักกะสัน - สุวรรณภูมิ), โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท - ดอนเมือง (ARLEX) และ โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ - ระยอง ทั้งหมด

โดยวันนี้ (16 ต.ค.) ร.ฟ.ท. ได้จัดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) งานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ พิจารณาประกอบรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการ

ซึ่งการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ รถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) ช่วง พญาไท - ดอนเมือง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท - สุวรรณภูมิ วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. และช่วง ลาดกระบัง - ระยอง ความเร็ว 250 กม./ชม. และจะต้องมีการออกแบบเพิ่มเติมบริเวณทางเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) 4 กม. และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า 7 กม.- ขาออก 5 กม.) โดยมีระยะทางรวมทั้งหมด 260 กม. งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 200,000 ล้านบาท

ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดินส่วนของทางเชื่อมเข้าสุวรรณภูมิ 3 ราย และเข้าอู่ตะเภา 42 ราย และจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมอีกด้วย ขณะที่บริเวณสถานีฉะเชิงเทรา จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับรถไฟความเร็วสูงโดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 400 ไร่

มี 10 สถานี เป็นสถานียกระดับ 8 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และ สถานีระยอง และ สถานีใต้ดิน 2 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ และ สถานีอู่ตะเภา

โดย ที่ปรึกษาประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) มากกว่า 12% ขณะที่ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ไม่คุ้มค่า ภาครัฐต้องอุดหนุน และต้องพัฒนาพื้นที่มักกะสัน และ รอบสถานี ควบคู่ไปด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และทดสอบระบบเปิดให้บริการได้ในปี 2566 คาดการณ์ผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการ ช่วงดอนเมือง - สุวรรณภูมิ บริการรถไฟธรรมดา (City Line) จำนวน 103,920 คน - เที่ยว/วัน ช่วงสุวรรณภูมิ - ระยอง บริการรถไฟความเร็วสูง จำนวน 65,630 คน - เที่ยว/วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น