xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” เร่งเครื่องผุดตลาดกลางสินค้าเกษตรในนิคมฯ Smart Park จ.ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อุตตม” เร่งเครื่อง กนอ.เร่งพัฒนานิคมฯ Smart Park มูลค่า 4,000 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยกันพื้นที่ 50 ไร่ผุดตลาดกลางซื้อขายสินค้าภาคการเกษตร ดันราคาพืชผลการเกษตรแถบตะวันออก แย้ม CP สนใจร่วมพัฒนานำร่องกับสหกรณ์การเกษตร



นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการมอบนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานแก่คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) และผู้บริหารระดับสูง กนอ.ว่า กนอ.ได้รายงานถึงแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้นำพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาพัฒนานิคมฯ รูปแบบ Cluster : Smart Park เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง พื้นที่ 1,466 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้จะกันพื้นที่ 50 ไร่ไว้รองรับการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร

“ผมขอให้เร่งนิคมฯ นี้ให้เร็วขึ้นอีกซึ่งจะมาเสริมกับท่าเรือมาบตาพุดที่มีอยู่แล้ว และกำลังพัฒนาในเฟสที่ 3 ที่ให้สอดรับกันทั้งหมดก็จะทำให้เกิดศักยภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือให้เน้นอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพราะ จ.ระยอง แถบนี้ก็ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ ก็มองในเรื่องของการแปรรูปและตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตร รวมไปถึงด้านสุขภาพหรือการแพทย์ครบวงจร โดยมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจนิคมฯ นี้มาก” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ กนอ.จะต้องมองมิติต่างๆ นอกเหนือจากการพัฒนาพื้นที่แล้ว โจทย์หลักคือการสนับสนุนการพัฒนาฐานความเจริญใหม่ให้พื้นที่นั้นๆ โดยสอดรับกับนโยบายรัฐบาลและตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ จึงมอบหมายให้ไปเร่งจัดทำแผนพัฒนานิคมฯ ในรูปแบบ Cluster อื่นๆ ซึ่งเป็นการนำพื้นที่ในนิคมฯ ที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนานิคมฯ ใหม่จะต้องมีลักษณะของการตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อื่นๆ ที่จะต้องมีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องสอดรับกับแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Start Up ในพื้นที่นั้นๆ โดยขอให้สรุปแนวทางให้เสร็จภายใน 60 วัน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การพัฒนานิคมฯ Smart Park ตั้งบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง จะรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เช่น ลอจิสติกส์ หุ่นยนต์ ดิจิตอล การบิน อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบนำร่องในการตอบโยทย์นิคมอุตสาหกรรม 4.0 โดยในพื้นที่จะมีการพัฒนาระบบท่อน้ำร้อน น้ำเย็น สายไฟลงดิน ขนส่งมวลชนเป็นระบบรางลดการจราจร เน้นพลังงานแสงอาทิตย์ อาคารโรงงานจะต้องเป็นอาคารเขียว ฯลฯ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปี 2562 คาดว่าจะก่อสร้างและเปิดดำเนินการได้ปี 2563

“ขณะนี้มีผู้สนใจแล้วโดยเฉพาะในส่วนของการจัดทำตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตรที่เบื้องต้นทราบว่าทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP จะนำร่องร่วมพัฒนากับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรต่างๆ ในลักษณะ Corporation ซึ่งรายละเอียดคงจะต้องให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอีอีซีเป็นผู้ชี้แจง” นายวีรพงศ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น