xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” มอบ 4 โจทย์ BOI ยกเครื่องลงทุนขับเคลื่อน ศก.ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุวิทย์” ให้ 4 โจทย์ใหญ่บีโอไอปรับบทบาทใหม่หวังเปลี่ยนโฉมประเทศไทยผ่านการลงทุน กระจายรายได้ นำประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะส่งต่อโจทย์จากนายกฯที่ให้เน้นยุทธศาสตร์การลงทุน 6 ภาคหลังภาคตะวันออกเกิด “อีอีซี” แล้วที่เหลือ 5 ภาคต้องกำหนดให้ชัด พัฒนาผู้เชี่ยวชาญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดันคนไทยลุยลงทุน CLMV โฟกัสดึงลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเดินทางมามอบนโยบายให้แก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าได้มีการหารือร่วมกับบีโอไอ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในส่วนของการดึงดูดลงทุนจากนี้ไปต้องมีการปรับเปลี่ยนเพราะคู่แข่งมีมากขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนบ้านอาเซียน ดังนั้นจึงได้มอบหมาย 4 โจทย์ใหญ่ให้บีโอไอกลับไปทบทวนในการใช้การลงทุนให้เป็นหัวหอกปฏิรูปโครงสร้างการลงทุนของประเทศใหม่ เพื่อกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และนำประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ได้แก่ ยุทธศาสตร์การดึงดูดการลงทุนที่ต้องกระจายรายได้ออกไปยัง 6 ภาคทั่วประเทศตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์จากนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มียุทธศาสตร์การกระจายรายได้ออกไปยัง 6 ภาคทั่วประเทศ นอกจากแผนการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้ว อีก 5 ภาคที่เหลือ ได้แก่ ภาคอีสาน เหนือ กลาง ใต้และตะวันตก จะมียุทธศาสตร์อะไรเป็นจุดขายในการดึงดูดการลงทุนเข้าไป เช่น ภาคอีสานมีจุดเด่นที่การมีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ปักหมุดเป็นสามเหลี่ยมในการพัฒนาคนและเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะหากทำได้ จ.นครราชสีมา ที่มีศักยภาพเป็นฟูดวัลเลย์ก็จะเป็นตัวพลิกฟ้าฟื้นแผ่นดินเศรษฐกิจภาคอีสาน ส่วนภาคใต้ก็มีสินค้าฮาลาล และยางพารา เป็นต้น” นายสุวิทย์กล่าว

โจทย์ต่อไป คือ บีโอไอจะต้องทำหน้าที่เป็นข้อต่อในการดึงคนที่มีทักษะสูงจากทั่วโลกมาช่วยยกระดับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ทั้งในส่วนของ 5 อุตสาหกรรมเดิม และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรมดิจิทัลอีโคโนมี รวมทั้งมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรเกษตรแปรรูปให้เกิด Smart Farming โดยให้แรงจูงใจทั้งในด้านมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี

“บีโอไอได้ร่วมมือกับอีก 5 หน่วยงาน เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ฯลฯ ตั้งศูนย์บุคลากรทักษะสูงขึ้นมา เพื่อระดมบุคลากรที่มีความสามารถระดับสูงมาช่วยตอบโจทย์การลงทุนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่จะขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และยังตอบโจทย์อีอีซี” นายสุวิทย์กล่าว

นอกจากนี้ บทบาทของบีโอไอต่อไป นอกจากจะทำหน้าที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว ก็ต้องเน้นส่งเสริมการออกไปลงทุนกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย เพื่อขยายตลาด โดยอาจต้องให้ 3 ธุรกิจใหญ่อย่าง สถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์) ธุรกิจประกันและโลจิสติกส์นำไปก่อน โดยจะต้องทำเป็นแพคเกจให้ดีและมีความชัดเจนขึ้นว่า กลุ่มไหนที่ไปได้ และควรไปอย่างไร สุดท้ายคือ ต่อไปการจะออกไปเจาะตลาดต่างประเทศจะมีการโฟกัสมากขึ้น เบื้องต้นจะโฟกัสการลงทุนจาก 2 ตลาดหลัก คือ ยุโรปที่มีการลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ โดยจะโฟกัสไปประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร อีกตลาด คือ เอเชีย จะโฟกัสไปที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน โดยเฉพาะไต้หวันที่มีสมาร์ทเอสเอ็มอีจำนวนมากสามารถดึงมาร่วมลงทุนและพัฒนากับเอสเอ็มอีไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น