“อุตตม” ลุ้น ครม.วันที่ 15 ส.ค.นี้เคาะยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระยะยาว 10 ปี คลัง-บีโอไออัดมาตรการหนุนเพียบ เผยนักลงทุนไทย-เทศ 9 รายประเดิมนำร่องระยะแรกปี 2561 หมื่นล้านบาท หวัง 5 ปีโรงงานใช้หุ่นยนต์ฯ ระดับแสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกรระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 สิงหาคมนี้อาจจะมีการพิจารณายุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติจำนวน 9 รายตอบรับการลงทุน ทั้งผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ การใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติแล้ว โดยจะมีมูลค่าการลงทุนในระยะยแรกปี 2561 ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าตัวเลขอาจจะไม่มากนักแต่จะสามารถเข้าไปสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดการพัฒนาไว้ให้เกิดการขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี
“คงจะต้องรอดูว่า ครม.วันอังคารนี้จะมีการพิจารณาหรือไม่ เพราะอาจจะมีเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญอื่นๆ กว่าหรือไม่ เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่นายกรัฐมนตรีให้ทุกกระทรวง กรม เร่งเสนอรายชื่อให้ครบ ซึ่งหากไม่เข้าครั้งนี้ก็อาจจะเป็น ครม.อังคารถัดไป เพราะวันที่ 22 สิงหาคมเป็นการประชุม ครม.สัญจร จ.นครราชสีมา ประเด็นพิจารณาหลักคือเรื่องในท้องถิ่น” นายอุตตมกล่าว
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมีการสนับสนุนด้านภาษีสรรพสามิตจากกระทรวงการคลัง โดยจะมีการกำหนดประเภทชิ้นส่วน จำนวนในการได้สิทธิทางภาษี รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะมีการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุม และกว้างขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ให้ข้อมูลจะเหมาะสมกว่า แต่มั่นใจว่าเอกชนจะมีความพอใจกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐจะออกมาเป็นแพกเกจในการส่งเสริมการลงทุน
“โลกปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตสินค้าและการบริการก้าวหน้าไปมาก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิต แต่ประเทศไทยเราเองยังมีน้อยมาก และอนาคตไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะด้วยแรงงานในระบบของไทยเริ่มลดลง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ จึงมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยหากไม่เร่งพัฒนาก็จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่งตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก็จะมีการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เน้นพัฒนาคนไทย จะมีการตั้งเครือข่ายพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนว่าหากลงทุนแล้วตลาดแรงงานจะรองรับเพียงพอ” นายอุตตมกล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ขณะนี้มีเอกชน 9 รายประกาศลงทุนผลิตชิ้นส่วน ติดตั้งการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตแน่นอนแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสนับสนุนของรัฐ เช่น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท สุพรีม โพรดักส์ และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
สำหรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทย กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการของอาเซียน มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง โดยปีแรก 2561 จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ระยะ 5 ปี (2561-2565) จะกระตุ้นให้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศอย่างน้อย 30% ของมูลค่าการนำเข้าที่มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี และโรงงานในประเทศอย่างน้อย 50% ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูง มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท และระยะยาว 10 ปี (2561-2570) ไทยมีเทคโนโลยีของตนเองและเกิดความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่
ส่วนกลไกเบื้องต้นที่จะผลักดัน อาทิ มาตรการทางการตลาดด้วยการลดหย่อนภาษี และการใช้เงินทุนกองทุนต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นหุ่นยนต์ฯ และมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ เช่น การลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการในประเทศด้วยการแก้ปัญหาความลักลั่นของอากรนำเข้าระหว่างสินค้าสำเร็จรูปและชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่นำเข้ามาผลิต การพิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุน นอกจากนี้มีมาตรการยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฯ ด้วยการจัดตั้งเซ็นเตอร์ ออฟ เอ็กเซลเลนซ์ หรือซีโออี มีสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นหน่วยงานหลักร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเชิงพาณิชย์