xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชง ครม.ขอ 3 หมื่นล้านใช้วงเงินกู้ผู้ประกอบการชายแดนใต้ เล็งเยียวยาครอบครัวผู้ก่อเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ถก 7 กลุ่มภารกิจ กำหนดวงเงินกู้ดอกเบี้ยเงินต่ำให้ผู้ประกอบการชายแดนใต้ จ่อชง ครม.รวม 3 หมื่นล้าน พิจารณาเงินเยียวยาทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและครอบครัวผู้หลงผิด เท่าเทียม อ้างให้แค่บางแง่มุมที่ถูกกล่าวหาทำเกินกว่าเหตุ ยันวงจรปิดต้องคัดของดี จัดซื้อโปร่งใส

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานในการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ครั้งที่ 3/2560 โดยมีผู้แทนพิเศษ 7 กลุ่มภารกิจงานผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ได้แก่ กอ.รมน., กอ.รมน.ภาค 4 สน., ศอ.บต, ศชต., สมช. และผู้และผู้แทนจากกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมว่า เน้นย้ำการเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคลัง 2 เรื่อง คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในจำนวนวงเงิน 25,000 ล้านบาท ที่จะหมดเวลาภายในปี 2560 นี้ ขณะนี้เรากำลังหาข้อมูลเพื่อขออนุมัติวงเงินเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติมในการประกอบธุรกิจต่างๆ เนื่องจาก โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนจะแล้วเสร็จในปี 2563 จึงควรพิจารณาว่าหลังจากนี้แล้วจะสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างไร การประชุมในวันนี้จะกำหนดวงเงินเพื่อจะได้แนะนำเรียนให้กับรัฐบาลทราบต่อไป

พล.อ.อุดมเดชยังกล่าวอีกว่า การประชุมวันนี้จะหารือในเรื่องของการพิจารณาเงินเยียวยาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และยังเกี่ยวข้องกับงานบางกระทรวง ทั้งกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง เนื่องจากกฎหมายการเยียวยา มีหลายฉบับ ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้กำหนดให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ตอบคำถามประชาชนได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกัน

“การเยียวยาจะให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่ายก็คือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และครอบครัว ผู้หลงผิด ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของตัวเลขจำนวนเงินที่ใช้เยียวยา รู้จักกำหนดให้เป็นกฎหมายกลางเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดถึงจะต้องไปเยียวยาครอบครัวผู้ที่ก่อเหตุเนื่องจากมีบางกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าเหตุ บางแง่มุมก็จำเป็นต้องพิจารณาเยียวยาประชาชนเหล่านี้ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความรอบคอบและเหมาะสมซึ่งยังคงยึดกฎหมายเดิมเป็นหลัก แต่ในเรื่องตัวเงินที่เหลือมล้ำก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้” พล.อ.อุดมเดชกล่าว

พล.อ.อุดมเดชยังกล่าวยืนยันอีกว่า ผู้แทนพิเศษรัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณภายหลังโครงการได้รับความเห็นชอบจาก ครม. รวมถึงการคัดเลือกบุคคล เข้ามาดำเนินการโครงการเหล่านั้น เรื่องของส่วนราชการที่จะต้องดำเนินการ ตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบเพื่อความถูกต้องและโปร่งใส

สำหรับเงินกู้ดอกเบี้ยเงินต่ำทางผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้กำหนดวงเงินไว้ที่ 30,000 ล้านบาท เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ พล.อ.อุดมเดชยังกล่าวถึงกล้องวงจรปิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ว่า สำหรับกล้องวงจรปิดเป็นเครื่องมือหลักที่สามารถติดตามคดีความต่างๆ ได้ดี แต่สิ่งที่บกพร่อง ผิดพลาด ทั้งสภาพอากาศที่ทำให้กล้องเสียหายง่าย หรือการตั้งใจทำลายกล้องที่เกิดขึ้นหลายจุด ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องที่เข้มงวดมาก อีกทั้งที่รับงบประมาณไปดำเนินการทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กอ.รมน.ภาค 4 สน. ศอ.บต. ตลอดจนส่วนราชการๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ได้เน้นย้ำ พร้อมทั้งกำชับว่าจะต้องคัดเลือกกล้องวงจรปิดที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเป็นของดี อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวจะต้องมีความโปร่งใส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น