ปัตตานี - นายสถานีรถไฟปัตตานี ชี้แจงกรณีเบิกโอทีประจำเดือนพฤษภาคม เป็นเงิน 102,271 บาท ต้องกำกับดูแลการซ่อมรางเกือบทั้งเดือน เผยไม่รู้สึกท้อ เพราะถือว่าคนที่นำไปแชร์ไม่รู้ข้อเท็จจริง ย้ำเป็นการทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ
วันนี้ (28 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก “หมาเฝ้าบ้าน” ได้เปิดเผยข้อมูลนายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี ทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง มากกว่า 10 วัน และเบิกค่าทำงานล่วงเวลา หรือโอที ในเดือนเดียวกว่า 1 แสนบาท จนกลายเป็นคำถาม และเสียงวิจารณ์ว่า การเบิกเงินล่วงเวลามากแบบนี้สามารถทำได้หรือไม่ ทำให้ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจงว่า สถานีดังกล่าวมีนายสถานีคนเดียว และต้องควบคุมงานการซ่อมแซมรางในเวลากลางคืน เป็นการทำงานนอกเวลาในช่วง 00.00-06.00 น. และหลังเลิกงานตั้งแต่ 18.30-00.00 น. รวมแล้วทำงานนอกเวลา 11 ชั่วโมง 30 นาที โดยในเอกสารระบุว่า นายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี เบิกโอทีประจำเดือนพฤษภาคม เป็นเงิน 102,271 บาท
ในวันนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่สถานีรถไฟ จ.ปัตตานี ตั้งอยู่ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อพบกับ นายอำนาจ ภู่เกตุ นายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี สอบถามข้อเท็จจริงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมในโลกโซเซียลได้หายข้อข้องใจ และที่มาที่ไปของการเบิกเงินค่าทำงานล่วงเวลากว่า 1 แสนบาท และเมื่อไปถึงก็พบว่า นายอำนาจ ภู่เกตุ นายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี กำลังปฏิบัติหน้าที่เดินตรวจตรวจเรียบร้อยบริเวณสถานีรถไฟเพื่อรอขบวนรถ เมื่อขบวนรถไฟมาถึงก็ได้แสดงธงแดงให้รถหยุดเพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นลง จากนั้นจึงได้แสดงธงเขียว เพื่อทำการปล่อยขบวนรถออกจากสถานี ก่อนจะเข้าไปรายงานไปยังเขตว่าขบวนรถได้มาถึงเวลาเท่าไร และออกจากสถานีเวลาเท่าไร ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติภารกิจทุกวันของ นายอำนาจ ภู่เกตุ นายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี
นายอำนาจ ภู่เกตุ นายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า อยากจะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกันว่า ในช่วงนี้มีการปรับปรุงทางในช่วงสถานีรถไฟหาดใหญ่ ถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก โดยการซ่อมแซมในครั้งนี้ได้ทำตามความต้องการของบริษัทที่จะทำการซ่อมแซมหลังจากหมดขบวนรถแล้ว ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงหมดเวลาของนายสถานีต่างๆ แล้ว
ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อสถานีปัตตานี ทางบริษัทได้ร้องขอไปยังสารวัตรบำรุงทางเทพฯ เพื่อให้ออกโทรเลขแจ้งไปยังพนักงานควบคุมการเดินรถหาดใหญ่ เพื่อให้พนักงานควบคุมการเดินรถหาดใหญ่ แจ้งให้นายสถานีต่างๆ ในสังกัดรับทราบว่า ในเดือนพฤษภาคม จะมีการปิดทางในการปรับปรุงซ่อมแซมทางในการเปลี่ยนหมอน เปลี่ยนราง ปะแจ เชื่อมราง และเก็บรางเก่า ซึ่งจะต้องมีการปิดทาง และนายสถานีจะต้องอยู่ควบคุมการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชา ก็คือ พนักงานคุมปะแจ และพนักงานกั้นถนน เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ทางบริษัทในกรณีที่จะมีรถเข้า
ส่วนในประเด็นนี้ที่สังคมถามว่า แล้วนายสถานีทำงานอย่างไรตลอด 24 ชั่วโมง อันนี้มันก็อยู่ในสภาวะที่นายสถานีขาดแคลนในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสถานีรถไฟนาม่วงถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก มีเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ สถานีรถไฟยะลา และสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก มีผู้ช่วยนายสถานี นอกนั้นมีนายสถานีรถไฟรับผิดชอบเพียงคนเดียว ฉะนั้น ในกรณีงานของบริษัทที่ทำแต่ละสถานีก็ขึ้นอยู่กับการจัดการด้านเวลา ขึ้นอยู่กับนายสถานีนั้นๆ ว่าจะบริหารจัดการเวลาอย่างไร เพื่อให้ภารกิจที่มีอยู่บนความรับผิดชอบของนายสถานีสำเร็จลุล่วง และปลอดภัย ในช่วงเช้าสามารถเปิดการเดินรถผ่านได้โดยที่ไม่มีเหตุอันตรายเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการปรับปรุงทาง ซึ่งทางบริษัทได้กำหนดเวลาในการซ่อมแซมตั้งแต่หลังขบวนรถสุดท้าย จนถึง 6 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้นในแต่ละวัน
ส่วนในประเด็นการทำงานนั้น ในช่วงเวลาการทำงานปกติของนายสถานี บางคนเข้าใจว่าจะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ในห่วงเวลา 06.30 น.ถึง 18.30 น. ก็ต้องยอมรับขบวนรถไม่ได้มาติดๆ กัน ในช่วงที่รถไม่มีเข้าสถานี นายสถานีก็สามารถพักผ่อนได้ แค่เพียงว่าไม่สามารถออกไปไหนได้ และพร้อมที่จะทำงานตลอดเวลาเพื่อสั่งการได้ทันที
ในส่วนของการทำงานของบริษัทที่ทำการซ่อมแซมนั้น ก็จะมีพนักงานของบริษัทในการควบคุมดูแลในการทำงาน แต่ส่วนของนายสถานี ก็มีหน้าที่กำกับดูแลในด้านสั่งการ คนคุมปะแจ คนกั้นถนน ตามความต้องการของบริษัท พร้อมกับมีอำนาจหน้าที่ในการประกาศเปิดทาง เพื่อให้ขบวนรถวิ่งผ่านมาได้ในตอนเช้า ซึ่งในเคสนี้เป็นเคสเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ ไม่ได้ทำทั้งปี เป็นงานประมูลการซ่อมแซมทางในพื้นที่เสี่ยงภัย ต้องเร่งทำให้เสร็จ ยิ่งเร่งทำให้เสร็จเร็วเท่าไหร่ ก็เป็นผลดีต่อทางบริษัท และผู้ปฏิบัติงาน จึงต้องใช้เวลาในการทำอย่างน้อยเป็นเดือน หรือหลายเดือนเป็นเคสๆ
นายสถานีรถไฟปัตตานี ยังกล่าวอีกว่า สำหรับตนแล้ว ตนไม่รู้สึกท้อ เพราะตนถือว่าคนที่นำไปแชร์ไม่รู้ข้อเท็จจริง อาจเป็นด้วยเมื่อมีคนแชร์มาก็แชร์ต่อกันไป แต่อย่าลืมว่ามันเป็นความไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกกระทำ ผู้ที่ถูกกระทำไม่มีโอกาสแก้ตัว แม้จะมีการแก้ตัวแต่ผลสัมฤทธิ์มันไปแล้ว มันเป็นจำเลยของสังคมในด้านความคิดต่างๆ ไปแล้ว และประการสำคัญ ต้องยอมรับว่า การขาดแคลนอัตรากำลังของการรถไฟฯ มันมีอยู่ทุกตำแหน่ง ถ้าจะไม่ให้พนักงานเบิกจะต้องจัดบุคลากรโดยเฉพาะนายสถานี โดยใช้สถานีละ 3 ผลัดต่อ 24 ชั่วโมง ซึ่งสภาพความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยๆ บางแห่งก็ 2 คน บางแห่งก็ 1 คน ก็ต้องรับสภาพ
“ส่วนในเคสของผมเป็นการสมัครใจ โดยการรถไฟฯ เป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้ตามสภาพการจ้างโดยความยินยอมของพนักงาน ถ้าเกิดว่าในกรณีนี้พนักงานไม่ยินยอมก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ อยากเรียนให้รับทราบเพราะเป็นการทำงานนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ เพราะพนักงานการรถไฟฯ ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงาน ที่กำหนดไว้” นายอำนาจ ภู่เกตุ นายสถานีรถไฟ จ.ปัตตานี กล่าว