xs
xsm
sm
md
lg

‘สื่อลวง’ กุเรื่องเอื้องานเดิมพันสูง

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

แกนอักษะแห่งความชั่วร้ายด้านทุจริต คอร์รัปชันในบ้านเมืองของเราเคยมีในลักษณะเป็นไตรภาคี คือคนกุมอำนาจรัฐ ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ เป็นสายสัมพันธ์หยั่งรากลงลึกมานานนับตั้งแต่มีรัฐประหารในปี 2475 เป็นกลุ่มผลประโยชน์สามานย์เกาะอันเหนียวแน่น

โครงสร้างไตรภาคีที่ว่านั้นแปรเปลี่ยนด้วยเมื่อมีการสับเปลี่ยนกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมือง หรือกลุ่มทหารนักรัฐประหารแล้วเข้ามาตักตวงผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก็เป็นการขัดแย้งของผลประโยชน์นั่นเอง

การเมืองคือการทำสงครามแย่งชิงผลประโยชน์โดยไม่ใช้อาวุธ แต่ใช้พลัง ศักยภาพของพวกที่มีอิทธิพลเหนืออำนาจการเมือง คือพวกผู้นำกองทัพซึ่งหาเหตุทำรัฐประหาร เป็นอย่างนี้โดยตลอด พวกกุมอำนาจรัฐไม่มีปัญหาความยากจน มีแต่รวยมากหรือน้อย

ระดับหรือจำนวนของผลประโยชน์ย่อมขยายตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ จากการทุจริตที่เคยเป็นเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ได้ถูกนักธุรกิจการเมืองสามานย์เร่งอัตราในลักษณะการก้าวกระโดดถึงจุดสูงสุดถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หรือบางกรณีก็มากกว่านั้น โกงกันอย่างไม่อาย

ไม่ใช่แบบ “ข้ามาคนเดียว” แต่ชักน้ำพี่ๆ น้องๆ เขย สะใภ้ ป้า น้า อา ลุง ลูกพี่ หลาน ต่างสาแหรกมากันเพียบ จนได้ชื่อว่ามาเพื่อร่วมโกง ระบือลือลั่นกินคำโต ทุกรูปแบบ ทุกพื้นที่ ไม่ยอมแบ่งก้อนใหญ่ให้ใคร เจียดให้แค่เศษๆ จนถูกเรียกว่าเป็นยุค “โกงทั้งโคตร”

ถูกเรียกอย่างนี้ คณะโคตรโกงยังไม่อายสักนิด แถมยังมุ่งโกงไม่วอกแวกอีกด้วย!

มาถึงยุคนี้ แกนอักษะแห่งความชั่วร้ายตัวที่ 4 มาเป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ “สื่อ” ไม่เป็นตัวร่วมโกงโดยตรง มาเป็นตัวช่วยหลัก เล่นบทบาทช่วยปกปิดพฤติกรรมโกง ไม่ขุดคุ้ยเปิดโปงให้ประชาชนได้รับรู้ เป็นหมาเฝ้าบ้านแต่ไม่เห่าเตือนเจ้าของบ้าน เป็นหมาทรยศ

หมาแบบนี้กินหลายราง แล้วแต่ว่าใครจะหยิบยื่นอาหารอันโอชะให้ตอบแทนกับการทำภารกิจสำเร็จ มี 3 ด้านคือ ปกปิดความเลวทราม เชียร์นายเงิน และโจมตีฝ่ายตรงข้ามนายจ้างงานพิเศษ ผลตอบแทนมีเงินประจำ เงินก้อน ทรัพย์สิน ไป “ดูงาน” เมืองนอก

เมื่อมีความชั่วร้ายในบ้านเมือง ชาวบ้านควรจะได้รับรู้จากสื่อหรือฝ่ายอื่นๆ เผยแพร่ผ่านสื่อ แต่ถ้าสื่อไม่ยอมทำหน้าที่รายงาน กลับปกปิดซ่อนเร้นความจริง เบี่ยงเบนข้อมูลข่าวสาร สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ พฤติกรรมเช่นนี้เกิดความเสียหายเกินประเมิน

ยิ่งถ้ามีการต่อสู้เพื่อครอบครองทรัพย์สิน สัมปทานธุรกิจ โครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณ มีผลกระทบมากมาย แต่สื่อไม่เสนอความจริงเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนย่อมส่งผลร้ายต่อเนื่อง บางกรณีผลผูกพันทางกฎหมาย ถ้ายกเลิกก็จะมี “ค่าโง่” เป็นต้น

ในยุคที่มี “สื่อแท้” “สื่อเทียม” “สื่อเลือกข้าง” ทางการเมืองหรืองานอื่นใด อันตรายต่อบ้านเมืองคือ “สื่อรับจ้าง” โจมตีฝ่ายตรงข้าม แน่นอนผู้ที่เลือกใช้บริการ “สื่อรับจ้าง” ย่อมต้องเป็นกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ มีปัจจัยการจ้างสื่อทำงานอย่างเป็นขบวนการ

หลายกรณีในช่วงบ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤต มีสื่อทุกประเภทแสดงออกให้เห็นจุดยืนเต็มที่ สื่อประเภทนี้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ประชาชนดูไม่ยาก แต่พวกสื่อรับจ้างนำเสนอเรื่องราวเชียร์นายงาน โจมตีฝ่ายตรงข้าม จะมีวิธีการทำงานค่อนข้างเนียน คนทั่วไปดูยาก

การนำเสนอข้อมูลด้านเดียวโดยรูปแบบลักษณะน่าเชื่อถือ การสัมภาษณ์บุคคลซึ่งดูแล้วน่าเชื่อถือ มีตำแหน่งสำคัญ เป็นคนสาธารณะ ย่อมทำให้ประชาชนหลงเชื่อได้ง่ายในคำพูด ลีลาชวนให้ประทับใจในความรู้ ความฉาดฉานด้วยมาดผู้ทรงภูมิ ฐานะการเงินดี

“สื่อรับจ้าง” เป็นอันตรายเพราะทำไปโดยขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบ อาศัยอาชีพสื่อบังหน้า มีอิทธิพลมากถ้าทำตัวใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองกุมอำนาจรัฐ มีผลประโยชน์ทางธุรกิจขนาดใหญ่จนสร้างบรรยากาศของความไม่เที่ยงธรรมต่อนักธุรกิจกลุ่มอื่นๆ

การรวมตัวของสื่อรับจ้างและสื่อตัวช่วยในการประโคมข่าวพร้อมกันโจมตีข้อเสนอของรัฐบาลเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สร้างความสับสนให้ประชาชน เพราะการนำเสนอข้อมูลครึ่งเดียวในลักษณะบิดเบือน ทำให้แผนต้องถูกพักไว้

การใช้ถ้อยคำนำเสนอแบบกำกวม เน้นประเด็นความเสียหาย ผลกระทบ และข้อมูลฝ่ายเดียว ตามด้วยการตั้งวงวิเคราะห์โดยผู้น่าเชื่อถือ ย่อมทำให้ประชาชนไขว้เขว ไม่มั่นใจ หลงเชื่อว่าการนำเสนออย่างเป็นขบวนการเช่นกันเป็นการร่วมกันเปิดโปงแผนร้าย

โดยหารู้ไม่ว่าขบวนการบิดเบือน ป่าวร้องข้อมูลเท็จ โดยสื่อรับจ้างกลุ่มผลประโยชน์พลังงานนั่นแหละเป็นตัวมหาวายร้ายในวงการสื่อ มีความเชื่อมโยงเหนียวแน่นกับกลุ่มทุน นอกจากทำงานเพื่อให้ได้งานโฆษณาสำหรับองค์กรสื่อที่ตัวเองสังกัด ตัวเองก็ “ได้” ด้วย

ถือเป็นการรณรงค์โดยมีผลประโยชน์มหาศาล ภายใต้สัญญาสัมปทานยาวนาน! มีการเปิดเผยตัวเลขว่าผลประโยชน์ “การได้เสีย” ในการสู้ศึกพลังงาน และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันครั้งนี้มีมากเป็นแสนๆ ล้านบาท ในที่สุดผลประโยชน์ของรัฐ ประชาชนย่อมมีน้อย

ถ้ารัฐบาลมีเจตนา ความตั้งใจจริงในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็น่าจะใช้สื่อของรัฐอธิบาย “ความจริง” ให้ประชาชนได้รับรู้ โดยปฏิเสธอย่างชัดเจนว่า บรรษัทนั้น ไม่ใช่การปลุกผียี่ห้อ “สามทหาร” เข้ามาฮุบธุรกิจพลังงานตามที่บางสื่อกุประเด็นป่าวร้อง

เมื่อการกุข่าวลวงทำให้แผนตั้งบรรษัทต้องล่าช้า ต้องดูว่าคุณท่านผู้นำจะสั่งให้สืบสวนสาวไปให้ถึงขบวนการปล่อยข่าวเรื่อง “สามทหาร” จนทำให้สังคมชาวบ้านบางส่วนตกใจว่าจะมีเช่นนั้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ในบรรษัทไร้กลุ่มทุนอื่นๆ

การเสนอข่าวลวงไม่ได้เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลเร่งดันร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อออกมา เพราะมีกฎหมายอื่นๆ จัดการได้อยู่แล้ว ที่สำคัญสื่อของรัฐควรมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น