คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
เมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย.๒๕๖๐ ได้รับเชิญจากเกรียงไกร คมขำ ผู้ดำเนินรายการ “เดินหน้าประชาธิปไตย” ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง NBT สงขลา ทุกวันศุกร์เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ให้ไปร่วมบันทึกเทปรายการจำนวน ๒ ตอน คือ ตอนที่ ๔ และตอนที่ ๕
ตอนที่ ๔ เรื่อง “สิทธิของประชา ร่วมเดินหน้าประชาธิปไตย” ประเด็นคำถามหลักๆ คือ
๑.หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคืออะไร
ตอบ - หลักปรัชญาประชาธิปไตยตามความคิดเห็นของอับราฮัม ลินคอน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” หลักการตามเนื้อหาคือ การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อำนาจในการปกครองเป็นของประชาชน มาจากประชาชน และใช้ไปเพื่อประชาชน โดยสรุปคือ ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม
๒.ในมุมมองของอาจารย์ การเลือกตั้งเป็นหัวใจหลักของประชาธิปไตยจริงหรือไม่
ตอบ - การเลือกตั้งเป็นเพียงกระบวนการในการสรรหาคนเข้าสู่อำนาจ ไปใช้อำนาจแทนประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน หากคิดว่าการเลือกตั้งคือ หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องทำความเข้าใจว่า การเลือกตั้งที่จะถือว่าเป็นหัวใจ หรือเป็นหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ ต้องเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส มีอิสระ ปราศจากการครอบงำ ทั้งโดยอำนาจรัฐ และอำนาจอื่นๆ และต้องมีความชอบธรรม เที่ยงตรงอย่างแท้จริง ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ทำหน้าที่เลือกตั้งต้องมีอิสระในการตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล
๓.หลักการเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย กับเผด็จการเสียงข้างมาก มีจุดเหมือน หรือต่างกันอย่างไร
ตอบ - หลักการเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย กับเสียงข้างมากแบบเผด็จการ ต่างกันในสองสามประการคือ หนึ่งที่มาของเสียงข้างมาก ในระบอบประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง แต่ในระบอบเผด็จการมาจากการยึดอำนาจ หรือลากตั้ง สอง เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการ และเหตุผล แต่เสียงข้างมากของเผด็จการอยู่บนพื้นฐานความพอใจของผู้มีอำนาจ สาม เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือประโยชน์สาธารณะ แต่เสียงข้างมากของเผด็จการมักจะอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ และพวกพ้องเป็นสำคัญ
๔.ประชาชนในปัจจุบันมีความรัก ความเข้าใจเรื่องสิทธิของตนเองหรือไม่
ตอบ - ประชาชนส่วนใหญ่มีความรัก และความเข้าใจเรื่องสิทธิของตน แต่วัฒนธรรมอำนาจ หรือบรรยากาศทางการเมืองการปกครองไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากวัฒนธรรมอำนาจมันครอบงำสังคมไทยมานาน จนยากที่จะยอมรับในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน
๕.ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง เรามีความหวังจะแก้อย่างไร
ตอบ - การซื้อสิทธิขายเสียงมีความซับซ้อน หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เงินเพื่อแลกกับคะแนนเสียงอย่างเดียว ยังปรากฏในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การให้ข้าวสาร และเงินสำหรับงานศพทุกงานในเขตเลือกตั้งแบบยาวนาน การปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในชนบท เป็นต้น นอกจากนั้น การซื้อสิทธิขายเสียงเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมของคนในชนบทและในเมือง ประกอบกับการเมืองไทยทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติไม่สามารถสร้างศรัทธา หรือผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน จึงต้องอาศัยการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นใบเบิกทางสู่อำนาจในสังคมต่างตอบแทน ชาวบ้านในบางพื้นที่ถึงกับกล่าวว่า ช่วงที่มีการหาเสียงถือว่าเป็นช่วงของการกระจายรายได้ หรือลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอันจะกิน และเป็นช่วงที่นักการเมืองต้องฟังเสียงประชาชนจนกว่าผลการเลือกตั้งจะออกมา
๖.ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยหรือไม่
ตอบ - ความจริงระบบอุปถัมภ์ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ถ้าผู้มากบารมี หรือผู้อุปถัมภ์นิยมอุปถัมภ์คนดี ให้มีโอกาสช่องทางในการดำเนินชีวิต หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ปัญหาว่า ในสังคมไทยผู้อุปถัมภ์และผู้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งจะต้องตอบแทนผู้อุปถัมภ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การไปลงคะแนนเสียงให้ มักจะเป็นคนไม่ดีในสังคม และอุปถัมภ์กันบนพื้นฐานของการเอารัดเอาเปรียบคนนอกอุปถัมภ์ของตน
๗.ทัศนคติพื้นฐานของประชาชนในเรื่องสิทธิควรเป็นอย่างไร จึงจะสามารถเดินหน้าประชาธิปไตยได้
ตอบ - ประชาชนต้องตระหนักว่า ทุกคนมีทั้งสิทธิ และหน้าที่ สิทธิของเรามาจากการทำหน้าที่ของคนอื่น และสิทธิของคนอื่นมาจากการทำหน้าที่ของเรา และสิทธิที่สำคัญที่สุดคือ สิทธิของสาธารณะ หรือสิทธิของชุมชน ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิของชุมชนจากการละเมิดของอำนาจรัฐ เช่น สิทธิในทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
(โปรติดตามตอนที่ ๕)