กพร. ลงนามร่วม สภาอุตฯ จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 4 แห่ง ที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง หวังยกระดับแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูง พร้อมฝึกอบรมนักศึกษาอาชีวะ รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่อุตสาหกรรม 4.0
วันนี้ (29 พ.ค.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ระหว่าง นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับ นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกรองรับการเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น Brain Power ใน 20 ปีข้างหน้า ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงาน ตามนโยบายของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ยุทธศาสตร์ชาตินั้น
“กพร. ได้ตอบสนองโครงการดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ล่าสุด ได้ร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ในหน่วยงานสังกัด กพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง” ปลัดแรงงาน กล่าว
นายธีรพล กล่าวว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น ให้มีทักษะได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงรองรับการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล แผนการดำเนินการร่วมกันจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ช่วง 1 - 3 ปี เน้นพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบกิจการในการเพิ่มทักษะการทำงาน การซ่อมบำรุง การเขียนโปรแกรม เพื่อรองรับสถานประกอบกิจการ/โรงงาน ที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ทดแทนการผลิตแบบเดิม โดยเน้นการนำนักศึกษาอาชีวะมาฝึกอบรมในระบบทวิภาคี เพื่อพัฒนาแรงงานใหม่ให้มีทักษะและความรู้ก่อนป้อนสู่ตลาด
2. ช่วง 3 - 5 ปี เน้นด้านวางแผนการผลิตวิเคราะห์กระบวนงาน ออกแบบ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และ 3. ช่วง 5 - 10 ปี มุ่งสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยเน้นส่งเสริมการพัฒนากำลังคน เพื่อผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลระบบ Automation ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และยกระดับแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูง รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่อุตสาหกรรม 4.0 และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ พร้อมกับร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้กับครูฝึกของ กพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แรงงานต่อไป