xs
xsm
sm
md
lg

ผักผลไม้ถูกแต่สู้น้ำมันไม่ไหว ดันเงินเฟ้อเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 0.17%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.ค.เพิ่ม 0.17% เหตุราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแรง แม้หมวดอาหารส่วนใหญ่ราคาจะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ที่ปีนี้ไม่มีผลกระทบภัยแล้ง พร้อมคาดแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะเป็นขาขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ค. 2560 เท่ากับ 100.53 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2560 ลดลง 0.13% และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2559 เพิ่มขึ้น 0.17% ถือเป็นการกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ คือ เดือน พ.ค.และ มิ.ย. ลดลง 0.04% และ 0.05% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อรวม 7 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.60%

“เงินเฟ้อเดือน ก.ค.ที่สูงขึ้น 0.17% เพราะสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้เป็นตัวสำคัญที่ดันเงินเฟ้อของเดือน ก.ค.ให้สูงขึ้น แม้ว่าสินค้าในหมวดอาหารส่วนใหญ่จะมีราคาลดลง โดยผักและผลไม้ราคาลดลงมาก เพราะปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปีก่อนเจอภัยแล้ง”

ทั้งนี้ รายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ที่เพิ่มขึ้น 0.17% เนื่องจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.57% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 3.40% ค่าโดยสารเพิ่ม 0.13% เคหสถาน เพิ่ม 0.62% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.42% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.68% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.11% ส่วนเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.11% การสื่อสาร ลด 0.03%

สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.55% สินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ผักสด ลด 4.88% ผลไม้สด ลด 5.65% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 2.47% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลด 0.79% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 2.76% แต่เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.10% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.78% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.81% นอกบ้าน เพิ่ม 1.27%

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะมีผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ยังประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ที่ 0.7-1.7%
กำลังโหลดความคิดเห็น