xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ย้ำ มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้ภาคพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกพ.ยึดกำกับดูแลภาคพลังงานให้สมดุล และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แจงทุกประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าสำนักงาน กกพ.อาจจะมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าบริการไฟฟ้า อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป โดยมีการพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นในช่วงเวลากลางวัน และพึ่งพากระแสไฟฟ้าจากกระบวนการผลิตหลักในระบบในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้ นโยบายการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยการให้ภาคครัวเรือน องค์กรธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีการขยายการลงทุนระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และอาจส่งผลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่รับใบอนุญาตมีรายได้ลดลง และเป็นต้นเหตุของการกำหนดอัตราสำรองไฟฟ้า (Back Up Rate) โดยขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง และแนวทางในการดำเนินการให้เกิดความชัดเจนดังต่อไปนี้

1. แนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ โดยจะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟเวลากลางคืน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนและปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ขอชี้แจงว่า “จากข้อสังเกตพฤติกรรมความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากนโยบายการส่งเสริมการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมกันอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นอาจมีผลทำให้แนวโน้มที่ช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูง (Peak) ที่มีการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดจากเดิม เปลี่ยนจากช่วงเวลากลางวันมาเป็นช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน กกพ.จะต้องมีการติดตาม ศึกษา วิเคราะห์ ผลที่เกิดขึ้น และนำไปเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งขณะนี้ตรงกับช่วงเวลาที่สำนักงาน กกพ.กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนตามกำหนด โดยปกติจะมีการทบทวนเป็นประจำทุกๆ 3-5 ปี ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.ยังยืนยันว่าการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลา Peak ณ ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากกำหนดเวลาเดิม คือ 09.00-22.00 น.ของวันธรรมดา”

2. การจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าสำรอง (Back Up Rate) จากการติดตั้งและการขยายการลงทุนระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) จนเป็นที่มาของคำว่า “การเก็บภาษีแดด” สำนักงาน กกพ.อยู่ระหว่างการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขอยืนยันว่าจะยึดหลักการพิจารณากรณีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในภาคพลังงาน โดยคำนึงถึงความความสมดุล และผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้พลังงานรายย่อยเป็นหลัก

3. กรณีการประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) 2 งวดติดกัน และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในการพิจารณาของ กกพ.เอง ได้คำนึงถึงปัจจัยหลักที่สำคัญคือ การบริหารจัดการให้เกิดความราบรื่นในการปรับตัว ทั้งในส่วนของประชาชนผู้ใช้พลังงาน และไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ยังไม่มีการขึ้นค่าไฟฟ้า (รวมการปรับลดตั้งแต่มกราคม 2558-เมษายน 2560 เท่ากับ -0.5668 บาท/หน่วย) ถึงแม้จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าเอฟที 2 งวดติดต่อกัน แต่ค่าเอฟทีงวดล่าสุดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2560 ยังคงติดลบ คือ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ กกพ.จะยังคงยึดนโยบายการพิจารณาการปรับเพิ่มหรือลดค่าเอฟที โดยดูแลให้เกิดความสมดุลในภาคพลังงาน ทั้งในส่วนของผู้ใช้พลังงาน และผู้ผลิตพลังงาน ด้วยความราบรื่น และไม่มีนโยบายที่จะอุดหนุน และสร้างความบิดเบือนให้เกิดแก่อัตราค่าบริการไฟฟ้า แต่จะมุ่งเน้นให้เกิดการปรับตัวได้อย่างราบรื่น

“อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นกลไก และเครื่องมือหลักของ กกพ.ในการกำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศ ที่สำนักงาน กกพ.ยินดีและเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น และพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งสู่การกำกับดูแลให้เกิดความสมดุล และเป็นธรรมในภาคพลังงาน โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก” นายวีระพลกล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น