เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ลดลง 0.04% กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เหตุราคากลุ่มอาหารลดลงแรงทั้งผักและผลไม้ หลังปีนี้ไม่เจอภัยแล้ง จ่อประกาศประมาณการเงินเฟ้อทั้งปี 60 ใหม่ เพราะน้ำมันมีทิศทางสูงขึ้น เงินบาทเริ่มแข็งค่า และมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ
นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ค. 2560 เท่ากับ 100.64 ลดลง 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2559 เป็นการกลับมาขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนนับจากเดือน มี.ค. 2559 ที่ติดลบ 0.46% จากนั้นเงินเฟ้อได้ขยายตัวเป็นบวกมาโดยตลอด และเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.15% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 0.81%
สาเหตุที่เงินเฟ้อในเดือน พ.ค.ลดลง เนื่องจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 1.38% โดยผักสดลดลงมากถึง 26.56% ผลไม้ลดลง 2.55% เพราะปีที่แล้วเกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้ผักและผลไม้ราคาสูงขึ้น แต่ปีนี้ไม่แล้ง แต่เดือนหน้าราคาผักอาจสูงขึ้นก็ได้เพราะเจอน้ำท่วมทำให้ผักเสียหาย ขณะที่ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 1.92% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 1.46% ส่วนเครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.86% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.08% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 0.19% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.04% นอกบ้าน เพิ่ม 1.14%
ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.74% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 4.99% เคหสถาน เพิ่ม 0.64% บันเทิงการอ่านการศึกษา เพิ่ม 0.44% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.18% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.08% ส่วนเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.01%
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เท่ากับ 101.14 เพิ่มขึ้น 0.46% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2559 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2560 และเฉลี่ย 5 เดือน เพิ่มขึ้น 0.58%
นางสุรีย์พรกล่าวว่า สนค.จะทำการประเมินเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2560 ใหม่ในการแถลงข่าวเงินเฟ้อของเดือน มิ.ย. ในวันที่ 1 ก.ค. 2560 เพราะขณะนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปก) ได้ปรับลดกำลังการผลิตลงมา อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และนโยบายรัฐบาลที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีผลทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่มีผลกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ
โดยเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันคาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่าง 1.5-2.2% โดยมีสมมติฐานจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 36.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ