น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 0.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เดือนเมษายนลดลงร้อยละ 0.26 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนัก ทำให้ราคาสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลราคาสินค้าและลดค่าครองชีพประชาชน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนขยายตัวร้อยละ 0.16 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากราคาผักสด น้ำมันขายปลีกในประเทศ รวมถึงข้าวสารเจ้า และอาหารสำเร็จรูปที่ราคาสูงขึ้น เพราะร้านค้าสิ้นสุดช่วงรายการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปีนี้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 1.03 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเดือนพฤษภาคมแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) 12 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น แต่จากการประเมินของกรมการค้าภายในพบว่ามีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นน้อยมากเพียงร้อยละ 0.0002 และมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.05 เท่านั้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อปีนี้อยู่ในคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5-2.2 ได้บนสมมติฐานที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3-4 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ในกรอบ 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น