xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจไมซ์ไทยสบช่อง “อินเดีย” ชิงสร้างรายได้กว่า 8 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในขณะที่นักท่องเที่ยวและนักเดินทางชาวจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการสร้างรายได้ของธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ด้วยเพราะปัจจัยหลักสำคัญคือกำลังซื้อที่สูงจากนักเดินทางในแต่ละปีที่มีเป็นจำนวนมากและยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น ในอีกมิติหนึ่งหลายๆ ธุรกิจเริ่มสรรหากลุ่มเป้าหมายรองเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“อินเดีย” แม้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และจำนวนประชากรเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ค่อยมีธุรกิจใดให้ความสำคัญที่จะเปิดตลาดอย่างจริงจัง เนื่องเพราะยังขาดการศึกษาองค์ประกอบและศักยภาพต่างๆ ในอินเดียอย่างจริงจัง ทั้งยังกลับมีความเข้าใจผิดๆ และคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก โดยเฉพาะการมองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนและมากไปด้วยปัญหาต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งๆ ที่ในปี 2559 อินเดียมีอัตราการเติบโตทางจีดีพีสูงถึง 7.7% โดยมีการคาดการณ์ว่าอินเดียจะมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าแชมป์เก่าตลอดกาลอย่างจีนภายใน 5 ปี หรือปี 2565

ความเป็นจริงอีกหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่หลายๆ ฝ่ายอาจไม่คาดคิด นั่นคือ บทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศไทยจาก “กลุ่มนักเดินทางไมซ์ชาวอินเดีย” ซึ่งถือเป็นอันดับ 2 รองจากจีนทั้งในแง่จำนวนนักเดินทางและการสร้างรายได้ จาก 10 ลำดับประเทศเอเชียที่เดินทางมายังประเทศไทย ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน โดยในปี 2559 นักเดินทางไมซ์ชาวอินเดียมีมากกว่า 9 หมื่นคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 8 พันล้านบาท

เพิ่มศักยภาพ Meeting & Incentives เจาะตลาดอินเดีย
จากธุรกิจไมซ์ อันประกอบด้วย การประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meeting & Incentives) หรือ MI การประชุมนานาชาติ (Conventions) และการแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) นั้นถือได้ว่าธุรกิจ MI เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของรายได้รวมในธุรกิจไมซ์ โดยในปีงบประมาณ 2559 มีนักเดินทางกลุ่ม MI จำนวน 522,039 คน สร้างรายได้ 39,662 ล้านบาท จากจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์รวมทั้งสิ้น 1,273,465 คน สร้างรายได้ถึง 102,936 ล้านบาท

ด้วยข้อมูลการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในภาพรวม ตลอดจนตัวเลขนักเดินทางและรายได้ของตลาดไมซ์อินเดียดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” หน่วยงานหลักในการทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจไมซ์ในประเทศไทยจึงเห็นความสำคัญและโอกาสในตลาดอินเดีย พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไมซ์ไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจที่โดดเด่นของทวีปเอเชีย

โครงการ Thailand Incentive & Meeting Exchange หรือ TIME ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล “ทีเส็บ” เพื่อสร้างเวทีความรู้และสร้างโอกาสทางการตลาดต่อผู้ประกอบการไมซ์ จึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2559 โดยเริ่มเปิดตลาดประเทศจีนเป็นแห่งแรกจนประสบความสำเร็จและได้ผลตอบรับที่ดีอย่างน่าพอใจ TIME 2017 จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “India In-depth” โดยมุ่งเน้นเนื้อหาเจาะลึกเกี่ยวกับตลาดอินเดียโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงตลาดอินเดียอย่างลึกซึ้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมองเห็นศักยภาพของตลาดกลางถึงบน ปรับมุมมองให้เห็นตลาดใหม่ๆ พร้อมกันนี้ยังสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการตลาดแบบสร้างสรรค์ สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด สร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าในจุดขายของประเทศไทย ทั้งยังมุ่งหวังให้เกิดการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการไปยังนักเดินทางไมซ์ที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงเพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
นางสาวนุช หอมรสสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล “ทีเส็บ”
เผยจุดเด่นนักธุรกิจไมซ์อินเดีย
นางสาวนุช หอมรสสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล “ทีเส็บ” กล่าวว่า ความน่าสนใจของกลุ่มนักเดินทางไมซ์ชาวอินเดียมีมากมายหลายด้านที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยรับรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการจับจ่ายที่นิยมสินค้าและบริการในระดับพรีเมียมมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่การเข้าพักโรงแรมระดับ 4 ดาวครึ่งขึ้นไป ทั้งยังความต้องการประสบการณ์การเดินทางในประเทศไทยที่มีความแปลกใหม่และหลากหลายมากกว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ขณะเดียวกันยังมีพฤติกรรมการเดินทางซ้ำ (Repeat) มากขึ้น

โดยเฉพาะในแง่ของการเดินทางของนักธุรกิจอินเดียมายังประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลถือว่ามีสัดส่วนสูงถึง 70% ในขณะเดียวกันรูปแบบการจัดงานเริ่มมีการอัปเกรดและยกระดับและมีจำนวนผู้ร่วมประชุมมากขึ้น จากอดีตที่มีการจัดงานในลักษณะพื้นฐานและมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 50-100 แต่ล่าสุดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนบางงานมีผู้ร่วมงานมากกว่า 1 พันคน ดังเช่นการจัดงานขององค์กรต่างๆ 6 งานล่าสุด คือ การจัดงานของ Domino Pizza เมื่อเดือน พ.ค. 59 มีผู้ร่วมประชุม 1.5 พันคน การจัดงานของ Herbalife เมื่อเดือน ต.ค. 59 มีผู้ร่วมประชุม 850 คน การจัดงานของ Glenmark Pharmaceuticals เมื่อเดือน ธ.ค. 59 มีผู้ร่วมประชุม 1.9 พันคน การจัดงานของ Amway เมื่อเดือน ธ.ค. 59 มีผู้ร่วมประชุม 730 คน การจัดงานของ Compuage Infocom เมื่อเดือน ก.พ. 60 มีผู้ร่วมประชุม 1.03 พันคน และการจัดงานของ Modicare เมื่อเดือน ก.พ. 60 มีผู้ร่วมประชุม 1.2 พันคน

“ทีเส็บ” ยังเพิ่มนโยบายเชิงรุกในการทำตลาดธุรกิจไมซ์อินเดียผ่านสำนักงานตัวแทน (Overseas Representative) ซึ่งปัจจุบันมี 7 แห่ง ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย พร้อมกำหนดเป้าหมาย 6 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีศักยภาพในการจัดงาน ได้แก่ ประกันภัย (Insurance) สินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) ยานยนต์ (Automobile) ขายตรง (Direct Marketing) ซีเมนต์ (Cement) โทรคมนาคม (Telecom) ไอที (Information Technology) และสื่อ (Media)

“พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางกลุ่มไมซ์ชาวอินเดียส่วนใหญ่ยังมีความชื่นชอบความหรูหราของการจัดงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรม หรือการจัดงานพิธีต่างๆ โดยเฉพาะพิธีแต่งงาน ทั้งยังเริ่มนิยมเพิ่มรูปแบบการจัดงานในลักษณะซีเอสอาร์มากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ของไทยควรศึกษาและตอบสนองความต้องการดังกล่าว ทั้งโรงแรม การจัดเลี้ยง และอื่นๆ ในขณะที่ธุรกิจไมซ์มั่นใจว่าปี 2560 จะสามารถดำเนินงานได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือเพิ่มจำนวนนักเดินทาง 7% เพิ่มรายได้ 10% ” นางสาวนุชกล่าวในตอนท้าย



กำลังโหลดความคิดเห็น