ผู้จัดการรายวัน 360 - “ทีเส็บ” ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่คนใหม่ “จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อเพิ่มรายได้ด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% ใน 4 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนเติบโตคู่ขนานกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” มีมติแต่งตั้งให้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 นั้น
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไมซ์ถือเป็นเครื่องมือส่งเสริมธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ถือว่าได้รับผลพลอยได้โดยตรง เพราะนักธุรกิจไมซ์ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเมื่อเสร็จภารกิจจากการประชุมต่างๆ แล้วมักจะท่องเที่ยวต่อ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป โดยเฉลี่ยคือ 8.82 หมื่นบาทในปี 2559 เติบโตเพิ่มขึ้น 3.28% โดยแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยถือได้ว่ามีการเติบโตและมีโอกาสผันผวนตามในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้น “ทีเส็บ” จึงจำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ หรือ D-MICE (Domestic Mice) ให้มีความมั่นคงและมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 50:50 ภายใน 4 ปี (2563) ดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น
จากข้อมูลขององค์กรที่ปรึกษาทางธุรกิจและวิจัยระดับโลก “Frost & Sulivan” ประจำปี 2558 ระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจไมซ์ทั้งใน และต่างประเทศ 1.5 แสนล้านบาท ช่วยให้รัฐได้รับภาษี 1.05 หมื่นล้านบาท สร้างอัตราจ้างแรงงาน 1.64 แสนตำแหน่ง และมีจีดีพีต่อหัวแรงงานสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น 2.1 เท่า
นอกจากนี้ ในปี 2559 สมาคมประชุมนานาชาติของโลก หรือ ICCA ยังได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่มีจำนวนการจัดประชุมสูงถึง 174 งาน เติบโตสู่อันดับที่ 24 ของโลกจากอันดับที่ 27 ที่มีการจัดงาน 151 งาน เมื่อปี 2558 แซงประเทศสิงคโปร์ที่มีการจัดงาน 151 งาน อยู่ในอันดับที่ 28 ต่ำลงจากอันดับที่ 24 ที่มีการจัดงาน 156 งาน ขณะเดียวกัน สมาคมด้านการแสดงสินค้าระดับโลก หรือ UFI จัดอันดับให้ประเทศไทยมีพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าโดยรวมเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย ด้วยจำนวน 244,323 ตร.ม. เป็นรองจากจีน 5,600,039 ตร.ม. ญี่ปุ่น 358,649 ตร.ม. อินเดีย 319,892 ตร.ม. และเกาหลีใต้ 308,368 ตร.ม. นอกจากนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) ยังมีพื้นที่ขายสุทธิของการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ด้วยจำนวนรวม 572,750 ตร.ม. ในปี 2558 เติบโตขึ้น 23.8% จากปี 2554 ที่มีจำนวนรวม 462,500 ตร.ม.
“สำหรับปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้าในประเทศไทยรวม 27.1 ล้านคน สร้างรายได้ 1.55 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ 1.01 แสนล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 26 ล้านคน สร้างรายได้ 5.4 หมื่นล้านบาท”
นายจิรุตถ์กล่าวด้วยว่า การยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ให้มั่นคงและเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 4 แนวทางหลัก คือ 1. เติบโตคู่ขนานกับการพัฒนาประเทศ เน้นการรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ โดยนำไมซ์คู่ขนานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ได้แก่ กลุ่มอาหาร เกษตร ชีวภาพ, กลุ่มสาธารณสุขและสุขภาพ, กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์อัจฉริยะ, กลุ่มดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์, กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แฟชั่น บันเทิง และวัฒนธรรม รวมถึงธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน คมนาคม และสื่อสาร ตลอดจนเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ตาก และหนองคาย
2. เติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ มุ่งเน้นภูมิภาคที่มีความเติบโตสูงและมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่ เขตอาเซียน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
3. เติบโตอย่างเท่าเทียม โดยขยายโอกาสให้อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตอย่างเหมาะสมในจังหวัดที่มีศักยภาพและมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และพัทยา
4. เติบโตอย่างเข้มแข็ง ผลักดันการเติบโตทุกด้านโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นจากทุกภาคส่วน เสริมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลสนับสนุนซึ่งจะต้องพัฒนาระบบภายในให้ตอบโจทย์ พัฒนาองค์กรและกฎระเบียบต่างๆ ให้สามารถรองรับการดำเนินงานในอนาคตได้ดีขึ้น
จาก 4 แนวทางดังกล่าว “ทีเส็บ” จึงได้มีการกำหนด 5 กลยุทธ์ที่เป็น QUICK WIN เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ประกอบด้วย กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำไมซ์ในเวทีโลก (Global Leader) โดยการดำเนินโครงการสำคัญ เชน โครงการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการสร้างมาตรฐานสำหรับสถานที่จัดงานไมซ์ (Thailand MICE Venue Standard), โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพจากสถาบันด้านไมซ์ระดับโลก เช่น หลักสูตรรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้า (Certified Exhibition Management) และหลักสูตรรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานประชุม (Certified Meetings Professional), โครงการเข้าร่วมงานเทรดโชว์และโรดโชว์ในตลาดเป้าหมายอย่างน้อย 8-10 งานต่อปี โดยจะเน้นในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง
กลยุทธ์ที่ 2 เป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในภาครัฐและเอกชน เน้นทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการร่วมมือกับผู้ประกอบการไมซ์ภาคเอกชน ดึงงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย อาทิ งาน SITE Global Conference 2019 งาน UFI World Congress 2019 / โครงการ Thailand MICE UNITED สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อผลิตสินค้า และบริการด้านไมซ์ให้แก่นักเดินทางกลุ่มไมซ์ / โครงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า และบริการอุตสาหกรรมไมซ์ (กรอ.ไมซ์) อันมีพันธกิจในการศึกษาและจัดทำแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 3 กระจายเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค เน้นการชูธุรกิจไมซ์เป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น อาทิ โครงการ Empowering Thailand Exhibition (EMTEX) ผลักดันอุตสาหกรรมแสดงสินค้าไทยสู่ภูมิภาคเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับเมืองไมซ์ ผ่านการสร้างงานแสดงสินค้าใหม่ กระจายงาน และยกระดับงานจากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาค เน้นผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามไทยแลนด์ 4.0 อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงานในเมืองไมซ์หลักและเขตเศรษฐกิจพิเศษ, โครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลยุทธศาสตร์ของไมซ์ซิตี้และเมืองที่มีศักยภาพ (MICE City) เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ, โครงการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติการระหว่าง “ทีเส็บ” กับไมซ์ซิตี้ (MICE City Summit) เพื่อระดมความเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ในไมซ์ซิตี้
กลยุทธ์ที่ 4 ผลักดันใช้นวัตกรรมและสร้าง MICE Intelligence เพื่อสนับสนุนและยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เน้นแนวคิดการสร้างงานแบบสมาร์ทไมซ์ (SMART MICE) เพิ่มความทันสมัย ยั่งยืน สร้างสรรค์ ช่วยสร้างประสบการณ์และความน่าสนใจให้แก่การจัดงานไมซ์, โครงการ MICE Intelligence & MICE Innovation ที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ทิศทางตลาด และแผนพัฒนาธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน
กลยุทธ์ที่ 5 ผลักดัน “ทีเส็บ” ในฐานะองค์กรที่มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล (Good Governance) อาทิ การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสาร “ทีเส็บ” เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนถึงการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรในฐานะหน่วยงานภาครัฐ อันแสดงให้เห็นถึงการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน