xs
xsm
sm
md
lg

กำหนดโรดแมปนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนกลยุทธ์ “SMART MICE”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
ผู้จัดการรายวัน 360 - “ทีเส็บ” ปรับรูปแบบการจัดงานไมซ์สอดรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ชูกลยุทธ์ “สมาร์ท ไมซ์” เน้นใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมศักยภาพทางการแข่งขันให้ประเทศไทยในฐานะไมซ์เดสติเนชั่น พร้อมกำหนดแผนแม่บทการดำเนินงาน 20 ปี วางตำแหน่งองค์กรเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ”

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) โดยมีเป้าหมายสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมนั้น อุตสาหกรรมไมซ์นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เนื่องจากการจัดงานไมซ์มีส่วนช่วยก่อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า การลงทุน การจับคู่ทางธุรกิจ และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่

“ทีเส็บ” ตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ธุรกิจไมซ์มีการเติบโตและสามารถก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานไมซ์จากแบบเดิมไปสู่การจัดงานแบบ “สมาร์ท ไมซ์” (SMART MICE) ด้วยการผสานแนวความคิดสร้างสรรค์กับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการจัดกิจกรรม พร้อมกำหนดโรดแมป หรือแผนแม่บทการดำเนินงานไมซ์ระยะ 20 ปี และวางตำแหน่งองค์กรเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ” (Facilitator) โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ด้าน คือ

1. การสร้างรายได้ให้ประเทศ ด้วยการดึงเม็ดเงินเข้ามาในประเทศมากขึ้น 2. การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มการประชุมนานาชาติและการแสดงสินค้านานาชาติ (Convention and Exhibition) เพราะนักเดินทางไมซ์กลุ่มนี้จะนำพาองค์ความรู้และนวัตกรรมเข้ามาด้วยจึงเป็นโอกาสดีของคนไทยที่จะได้เรียนรู้ และ 3. สร้างความเจริญที่ทั่วถึงและยั่งยืน เป็นการกระจายโอกาสทางธุรกิจ สร้างอนาคตให้ประชาชนทั่วพื้นที่ สร้างความยั่งยืน เพื่อให้แต่ละเมืองสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

นางศุภวรรณกล่าวต่อไปว่า จากเป้าหมายทั้ง 3 ด้านดังกล่าวทำให้การนำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์เป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนไมซ์เป็นตามเป้าหมายของแผนแม่บทสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้มีจุดเด่นและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยการยกระดับและพัฒนาการจัดงานไมซ์ให้มีความสมาร์ทมากขึ้นนั้นมีเป้าหมายหลักในการดึงผู้เข้าร่วมงานไมซ์จำนวนมาก ตลอดจนดึงผู้เข้าร่วมงานรายเก่าให้สนใจกลับมาร่วมงานอีก

SMART MICE จะต้องสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า (Customer Emotion) ต้องมีการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า (Customer Experience) ซึ่งเมื่อลูกค้าเกิดความรู้สึกที่ดีและเกิดความประทับใจในงานไมซ์แล้วจะทำให้ลูกค้าอยากมีส่วนร่วม (Customer Engagement) ในการจัดกิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป และอยากกลับมาเข้าร่วมงานไมซ์อีก”

นางศุภวรรณกล่าวอีกว่า กรอบแนวคิดการจัดงานแบบ SMART MICE ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. ความยั่งยืน (Sustainable) 2. การจัดงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน 3. ความทันสมัย (Modern) มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการสนับสนุนการจัดงานไมซ์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดงานไมซ์ให้ดียิ่งขึ้น 4. ความมีศิลปะสร้างสรรค์ (Artistic) การพัฒนาแนวคิดและรูปแบบในการจัดงานโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้งานที่มีความแปลกใหม่และสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานไมซ์เพิ่มขึ้น และ 5. การปฏิวัติการจัดงาน (Revolutionary) จากรูปแบบเดิมไปสู่การจัดงานแบบใหม่ โดยนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดงานซึ่งมาจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสานกับเทคโนโลยีทันสมัยและการเปลี่ยนแปลง (Transforming) พร้อมมีการพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานไมซ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของงานไมซ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สกอตแลนด์ เป็นต้น โดยได้ออกมาตรการส่งเสริมพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดงานไมซ์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุน การสนับสนุนทางด้านภาษี และด้านอื่นๆ”

จากรายงานการสำรวจสถิติการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดงานไมซ์ของ Meeting Professionals International (MPI) พบว่าร้อยละ 63 ของผู้วางแผนการจัดงานไมซ์มีการใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันมาช่วยในการจัดงาน โดยเทคโนโลยีที่มีการใช้งานในการจัดงานไมซ์มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เทคโนโลยีการลงทะเบียน (Registration System) 2. เทคโนโลยีป้ายชื่อของผู้เข้าร่วมงาน (Badge System) 3. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้เข้าร่วมงาน (Internet Access for Attendees) 4. การใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายของผู้เข้าร่วมงาน (Wi-Fi Access for Attendees) และ 5. เทคโนโลยีการติดตามสถานะของผู้เข้าร่วมงาน (Attendees Tracking System)

นางศุภวรรณกล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานไมซ์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดงาน ลดเวลาและขั้นตอนในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายและจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการดำเนินการ เพิ่มประสิทธิภาพในการประชาสัมพันธ์งานให้กว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ทำให้งานน่าสนใจ และดึงดูดผู้เข้างานได้มากขึ้น

“แผนงานขับเคลื่อน SMART MICE ของ ทีเส็บ ได้กำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการในธุรกิจไมซ์ให้มีความสามารถในการรองรับและสนับสนุนการจัดงานแบบ SMART MICE ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดงานแบบ SMART MICE ผ่านการจัดอบรม สัมมนา การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลตัวอย่างงานที่จัดการแบบ SMART MICE และการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับการอำนวยความสะดวกในจัดงานไมซ์ซึ่งนับเป็นก้าวที่สำคัญของการขับเคลื่อนไมซ์แบบ SMART MICE ร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งสู่ Thailand Towards Tomorrow” นางศุภวรรณกล่าวสรุป



กำลังโหลดความคิดเห็น