สนข.เปิดเวทีศึกษาและรับฟังความเห็นก่อนเลือก 4 แนวทาง ผุดรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หรือทางด่วนขั้น 3 เพื่อใช้ตอม่อบนถนนประเสริฐมนูกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด เผย ก.ย.นี้ชง “คมนาคม” พิจารณารูปแบบ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาทบทวนและเสนอแนะการใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนแนวกึ่งกลาง ถ.ประเสริฐมนูกิจ (ถ.เกษตร-นวมินทร์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน พร้อมเสนอแนะรูปแบบการลงทุนและเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสม รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการออกแบบเบื้องต้นและประมาณราคาค่าก่อสร้าง ระยะเวลาศึกษา 14 เดือน (10 เม.ย. 2560-9 มิ.ย. 2561)
ซึ่งแนวเส้นทางเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางด่วนระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดรูปแบบทางเลือก 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) 2. การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor 3. การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ประกอบด้วย โครงข่ายทดแทน N1 (การเชื่อมต่อ N2เข้ากับโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ) เพื่อเชื่อมวงแหวนตะวันออก-ตะวันตก N2 และ E-W Corridor และ 4. การพัฒนาด้วยรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน
การศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและแนวเส้นทางทางด่วน โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เริ่มต้นจากแยกแคราย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) บริเวณสถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-คูคต) บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) บริเวณแยกลำสาลี รวมระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร
สำหรับแนวทางด่วนจะเริ่มจากบริเวณสี่แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ตัดถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนนวมินทร์ ไปสิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายจากบริเวณสี่แยกเกษตรไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก และต้องพิจารณาการเชื่อมต่อโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวม และความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อโครงข่ายฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่ง สนข.จะได้นำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมภายในเดือนกันยายน 60
อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างทางด่วน N2 นั้นอยู่ในแผนปฏิบัติการคมนาคม (Action Plan) ปี 2560 ดังนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สามารถดำเนินการต่อไปตามแผนได้เลย ซึ่ง ครม.ให้ใช้เงินจากกองทุน TFF ดำเนินการ และระบบทางด่วนอยู่ใน 4 ทางเลือกอยู่แล้ว เพียงแต่จะดูว่าควรมีระบบรถไฟฟ้าขนาดเบาด้วยหรือไม่ จะมีระบบเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลล์เวย์เพื่อแก้ปัญหาจราจรแยกเกษตรอย่างไร