xs
xsm
sm
md
lg

คจร.ไฟเขียวปัดฝุ่นตอม่อเกษตรฯ ผุดทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ N2 กทพ.ลงทุน 1.43 หมื่นล้านจากกองทุน TFF

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คจร.ไฟเขียว กทพ.สร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2 เชื่อมมอเตอร์เวย์สาย 9 พร้อมให้ สนข.ศึกษายกข้ามแยกเกษตรเชื่อมต่อโทลล์เวย์แก้จราจรคับคั่ง ด้าน “ผู้ว่าฯ กทพ.” เร่งสรุปแบบ คาดเสนอ ครม.ปลายปี 60 ก่อสร้างปี 61 เผยวงเงิน 1.43 หมื่นล้านระดมจากกองทุน TFF “อาคม” เผยรถไฟฟ้าสีน้ำตาลยังศึกษาต่อ หากคุ้มค่าดันสร้างคู่ขนาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. มีมติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยให้พิจารณาแนวทางเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่ง คจร.ได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ศึกษาควบคู่ ทั้งระบบรถไฟฟ้า และการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางด่วน N2 กับดอนเมืองโทลล์เวย์ ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ให้ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร

“การเชื่อมทางด่วน N2 กับมอเตอร์เวย์สาย 9 ไม่มีปัญหา แต่ด้านฝั่งแยกเกษตรจะต้องไปหาวิธีการว่าจะเชื่อมกับดอนเมืองโทลล์เวย์อย่างไร จะวางตอม่อไปแนวใด รูปแบบจะเชื่อมกับโทลล์เวย์แล้วค่อยเข้าทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ หรือจะยกข้ามโทลล์เวย์ ตรงนี้ สนข.ต้องไปดูภาพรวม ส่วนทางด่วน N2 จะต้องถอยร่นให้มีระยะห่างจากแยกเกษตรพอสมควรเพื่อไม่ให้รถมาแออัดที่พื้นราบตรงแยกเกษตร ส่วนรถไฟฟ้าสีน้ำตาล หาก สนข.ศึกษาแล้วไม่มีความเหมาะสมและไม่คุ้มค่าก็ไม่ทำ แต่ถ้าคุ้มค่าก็สามารถลงทุนได้เพราะระบบทางด่วนกับรถไฟฟ้าเป็นคนละโหมด มี 2 ระบบในแนวเดียวกันได้” นายอาคากล่าว

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า มติ คจร.ชัดเจนแล้วให้ กทพ.ดำเนินโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2 เพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะทำแบบรายละเอียดและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จใน 8-9 เดือน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลายปี 2560 และประกวดราคาปี 2561 เริ่มก่อสร้างกลางปี 2561 ส่วนการเชื่อมต่อกับโทลล์เวย์นั้น ที่ต้องรอความชัดเจนจากการศึกษาของ สนข.แต่ไม่มีผลกระทบต่อการก่อสร้างเพราะสามารถดำเนินการภายหลังเมื่อมีข้อสรุปแล้วต่อไป

โดยกระทรวงคมนาคมบรรจุโครงการไว้ในแผนปฏิบัติการคมนาคม (Action Plan) ปี 2560 ซึ่งโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2 และ E-W Corridor วงเงินลงทุน 14,382 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือน ซึ่ง กทพ.จะลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) มีระยะทาง 10.5 กม. มีจุดเริ่มต้นประมาณ กม. 1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจข้ามคลองบางบัว ผ่านทางแยกถนนลาดปลาเค้าทางแยกหมู่บ้านเสนานิเวศน์ และไปเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) บริเวณทางแยกถนนประเสริฐมนูกิจตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม ผ่านแยกถนนนวมินทร์ตัดกับถนนประเสริฐมนูกิจ จนถึงจุดสิ้นสุดส่วนต่อขยายถนนประเสริฐมนูกิจบริเวณถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล สนข.ได้รับงบประมาณปี 2560 จำนวน 41.25 ล้านบาท เพื่อการศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และเสนอแนะรูปแบบการลงทุนและเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการกรณีต่างๆ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชนและออกแบบเบื้องต้น และประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการที่เหมาะสม ระยะเวลาการศึกษา 14 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น