ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพอใจผลงานช่วย SMEs เผยภาครัฐเทงบหนุนเพิ่มขึ้นทุกปีต่อเนื่องเพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ครึ่งปีหลัง เน้นช่วยเอสเอ็มอีต่างจังหวัด
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการใช้จ่ายงบประมาณปี 2560 ว่า ปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณ จำนวนทั้งสิ้น 5,661 ล้านบาท หน่วยงานในสังกัด 7 กรม มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 3,831 ล้านบาท คงเหลือ 1,830 ล้านบาท การเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 68 สำหรับภาพรวมผลการเบิกจ่ายจัดอยู่ในอันดับที่ 18 จากจำนวน 24 หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานระดับกระทรวงฯ หรือเทียบเท่า ซึ่งจะเร่งรัดการเบิกจ่ายและการทำงานของทุกหน่วยงานในสังกัดเพื่อช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ
“ผลงานที่โดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรกของกระทรวงฯ คือ การเข้าไปดูแลและช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งโครงการให้ความรู้ และแหล่งเงินทุน ที่ล่าสุดได้ปล่อยสินเชื่อแล้วกว่าหมื่นล้านบาท ส่วนในครึ่งปีหลังกระทรวงฯ จะยังคงทำงานเชิงรุกแต่จะเน้นขยายไปยังเอสเอ็มอีภูมิภาค ผ่านคณะกรรมการพัฒนาเอสเอ็มอีประจำจังหวัด เพื่อได้กำหนดทิศทางและจัดทำโครงการฯ ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และกระจายให้เข้าถึงผู้ประกอบการ ขณะนี้นอกจากมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center) ทุกจังหวัดแล้ว จะมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่เปิดพื้นที่ มีเครื่องมือและโรงงานต้นแบบให้เอสเอ็มอีได้มาใช้ประโยชน์เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 แห่งภายในเดือนกันยายนนี้ โดยนโยบายภาครัฐในปัจจุบันต้องการให้เอสเอ็มอีจัดทำบัญชีเดียว ภาครัฐจะเพิ่มความรู้ในการปรับตัวสู่ยุค 4.0 และช่วยสนับสนุนการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง” นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ยังสั่งการให้เร่งหาแนวทางเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินในระยะเร่งด่วน คือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนในระยะยาวคือ การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ ที่ปล่อยเงินกู้ค่อนข้างยากกว่าธนาคารรัฐ
จากผลการศึกษาอัตราการอยู่รอดของเอสเอ็มอี ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2558 พบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่าครึ่งจะสูญหายภายใน 5 ปี เพราะการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค เอสเอ็มอีขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบมากกว่าขนาดกลาง และขนาดใหญ่ตามลำดับ แต่เอสเอ็มอีก็ไม่ได้ปิดตัวมากตามผลการศึกษา และมีการจัดตั้งธุรกิจใหม่เกิดขึ้นตามปกติ จะเห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญต่อเอสเอ็มอีมากขึ้น ทั้งการเตรียมแผนบูรณาการส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่มี 9 กระทรวง 25 หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินงาน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น จากปี 2559 ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1,526 ล้านบาท ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3,555 ล้านบาท และปี 2561 เพิ่มเป็น 3,825 ล้านบาท
“ข้อแนะนำสำหรับเอสเอ็มอียุคนี้ คือ 1. ต้องใช้ประโยชน์จากการเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า 2. มองลูกค้าเป้าหมายให้ชัด และหากมีหลายกลุ่มก็ต้องมีการบริหารจัดการลูกค้าที่แตกต่างกัน และ 3. ต้องเรียนรู้ปรับตัวและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องไม่ติดกับความสำเร็จในปัจจุบัน” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว