2 สภาวิชาชีพระดมสมองวางรูปแบบกำหนดการถ่ายโอนเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีน หวั่นเป็นไฟไหม้ฟาง ปิดจ็อบไฮสปีดฯ แล้วไม่ได้อะไรเป็นนวัตกรรมต่อยอดให้อุตฯ ของไทย ระบุเพื่อนบ้านไปไกลถึงขั้นเริ่มผลิตขายกันแล้ว พร้อมยืนยันอบรม และออกใบรับรอง ให้วิศวกรจีนชุดแรก 40-50 คนได้ใน ส.ค. พร้อมจัดวิศวกรไทย 450 คนทำงานร่วมจีน
วันนี้ (18 ก.ค.) สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก จัดสัมมนา ระดมสมองข้อเสนอองค์กรวิชาชีพเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี โครงการรถไฟความเร็วสูง โดยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากที่ 2 สภาวิชาชีพได้เตรียมความพร้อมในการอบรมวิศวกรและสถาปนิกจีน สำหรับดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 แล้ว จุดยืนของ 2 สภาวิชาชีพในเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ ก่อสร้าง เดินรถ บำรุงรักษานั้น จะต้องกำหนดรูปแบบที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้แทนจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาคณบดีแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่างให้ความเห็นว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีนนั้น ไทยจะต้องกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร และต้องสร้างระบบในการถ่ายโอน และต้องเพิ่มโอกาสให้คนไทยสามารถพัฒนาระบบรางและทำการค้าขายได้ โดยเฉพาะซัปพลายเออร์อุตฯ ระบบรางทั้งในอาเซียนและระดับสากล เพราะขณะนี้แม้แต่มาเลเซียยังเริ่มผลิตบางส่วนของรถไฟฟ้าขายได้แล้ว ดังนั้น การถ่ายโอนต้องทำอย่างต่อเนื่องและควรใช้รูปแบบจีทูจีต่อยอดจากความร่วมมือไทย-จีน เพื่อให้การลงทุน 1.7 แสนล้านบาทมีประโยชน์สูงสุด
นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ได้นัดหารือรายละเอียดการถ่ายโอนเทคโนโลยีกับจีนในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ซึ่งไทยต้องการนำเทคโนโลยีจีนเรื่องรถไฟความเร็วสูงมาพัฒนาต่อยอด พัฒนาเป็นนวัตกรรมของไทยเองด้วย ไม่ใช่แค่ให้จีนมาสอน ซึ่งจีนนั้นได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2004 สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมของตัวเองได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ส่วนการอบรมและออกใบรับรองให้วิศวกรและสถาปนิกจีนกว่า 400 คนนั้น ขณะนี้ได้ตกลงหลักการอบรมแล้ว อยู่ในขั้นตอนเอกสารอบรม ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 รุ่น รุ่นแรก 40-50 คน เป็นกลุ่มที่ออกแบบในช่วง 3.5 กม. จะส่งข้อสอบให้จีนได้ในสัปดาห์แรกของเดือน ส.ค. และเข้าสู่การอบรมใน 3 สัปดาห์ต่อไป ส่วนที่เหลือจะแบ่งอบรม 3 รอบ ขณะที่สัญญาการออกแบบ (สัญญา 2.1) นั้นตั้งเป้าจะลงนามกับจีนในกลางเดือน ส.ค.นี้จะต้องเขียนเงื่อนไข NTP: Notice to Proceed หรือหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน กำหนดให้วิศวกรจีนจะเริ่มงานได้ต่อเมื่อผ่านการอบรมก่อน
นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ การรถไฟฯ กล่าวว่า ขณะนี้บอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบ ร่างสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1,706 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอ ครม.เห็นชอบ ขณะเดียวกันส่งร่างสัญญาให้อัยการตรวจแบบคู่ขนาน ทั้งนี้ ค่าจ้างออกแบบแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด โดยงวดแรกจ่ายหลังตรวจรับแบบตอนกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ประมาณเดือน ก.ย.นี้ และทยอยส่งแบบครบ 4 ตอนภายใน ก.พ.-มี.ค. 61
อย่างไรก็ตาม จะมีวิศวกรและสถาปนิกไทย 450 คนเข้าร่วมออกแบบ และทำงานกับจีน ซึ่งจะเป็นระดับปริญญาโท อายุงาน 15 ปี จำนวน 50 คน อายุงาน 5-10 ปี จำนวน 250 คน ระดับ ปวช. ปวส.อีก 150 คน ซึ่งสภาวิชาชีพกำลังคัดเลือกผู้เหมาะสม