xs
xsm
sm
md
lg

ทย.ทุ่ม 3.8 หมื่นล้านพัฒนาสนามบินภูมิภาค 28 แห่งใน 10 ปี ดันไทยฮับการบินเต็มรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)
กรมท่าอากาศยานประกาศแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี ลงทุน 3.8 หมื่นล้านยกเครื่องสนามบิน 28 แห่ง พร้อมเดินหน้าแผนเชิงรุก พัฒนาศักยภาพบริการ เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน/ปีในปี 2568 และเพิ่มเป็น 58 ล้านคน/ปีในปี 2578 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานในปีนี้จะดำเนินงานในเชิงรุกตามแผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยานปี 2560-2564 ทั้งในด้านการพัฒนาท่าอากาศยานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถรองรับการเติบโตด้านคมนาคมทางอากาศ ดำเนินงานท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเป้าที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค

แผนการบูรณาการบริหารสนามบินทั้ง 28 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยานนั้น จะครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาสนามบินและการเพิ่มศักยภาพการบริหารงาน และบุคลากร ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกรมท่าอากาศยานจากเดิมที่ถือว่ามีจุดแข็งและความได้เปรียบในด้านการมีท่าอากาศยานที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค มีความพร้อมต่อการรองรับการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทาง ทำให้มีผู้ใช้บริการในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการสายการบินที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินแบ่งเป็นแผนพัฒนาระยะที่ 1 (2560-2564) จะใช้งบประมาณ 29,154.75 ล้านบาท โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานที่มีศักยภาพ เช่น ท่าอากาศยานกระบี่, นครศรีธรรมราช, ขอนแก่น, ตรัง และสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันสนามบินดังกล่าวมีผู้โดยสารใช้บริการเกินขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินไปแล้ว ส่วนแผนพัฒนาระยะที่ 2 ช่วงปี 2565-2569 จะใช้งบประมาณ 9,407.03 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานี, อุดรธานี, ร้อยเอ็ด, สกลนคร, เลย และหัวหิน

ส่วนแผนการเพิ่มศักยภาพงานบริหารและบุคลากรนั้นถือเป็นปีแรกที่ ทย.ได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานของ 28 ท่าอากาศยานในสังกัด โดยจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและการแข่งขันในเชิงธุรกิจ ทำให้ทราบว่าท่าอากาศยานไหนมีผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง และให้เกิดการแข่งขันกันเอง ขณะเดียวกัน ด้านบุคลากรก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานทีมการตลาดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานของท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่ง โดยเปลี่ยนเป็นหน่วยธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันและการหารายได้เอง มีการตั้งทีมงานการตลาดเพื่อหาช่องทางการเพิ่มรายได้จากเดิมให้มากขึ้น รวมถึงหาช่องทางการเพิ่มรายได้อื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลด้านการเงินเบื้องต้นทำให้ทราบว่ามีหลายท่าอากาศยานที่มีผลประกอบการมีกำไร เช่น กระบี่, นครศรีธรรมราช, อุบลราชธานี, สกลนคร, น่าน, อุดรธานี, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, นครพนม, เลย” นายดรุณกล่าว

นอกจากความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในการมีท่าอากาศยานที่ตั้งที่ชัดเจนเหมาะสมกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคพร้อมต่อการพัฒนา รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ประชาชนได้รับบริการในราคาที่ถูกกว่า และการบริการที่ได้รับการยอมรับแล้วนั้น กรมท่าอากาศยานถือเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น เป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง การขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสาธารณูปโภค การขนส่งทางอากาศขั้นพื้นฐานของประชาชน และที่สำคัญประชาชนเป็นเจ้าของหน่วยงานที่แท้จริง ไม่เพียงแต่การพัฒนาทุกสนามบินให้มีมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยและทันสมัย รองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ยังคำนึงถึงประชาชนหรือผู้ใช้บริการในฐานะเจ้าของหน่วยงานที่แท้จริงให้ได้รับบริการที่ถูกและคุ้มค่าที่สุด รวมถึงการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติเพื่อให้เป็นท่าอากาศยานของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากสากลอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ทย.มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศไทย ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ท่าอากาศยานสามารถที่จะรองรับผู้โดยสารได้ตรงตามเป้าหมาย โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปีในปี 2568 และรองรับได้ถึง 58 ล้านคนต่อปีในปี 2578 และเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO
กำลังโหลดความคิดเห็น