กรมท่าอากาศยานหารือ “ไทยแอร์เอเชีย-นกแอร์” และภาคเอกชนโคราช จ่อเปิดเที่ยวบินประจำที่สนามบินโคราชหลังพบมีความต้องการเดินทาง เล็งเปิด “โคราช-เชียงใหม่” นำร่องปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 61
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า จากแนวทางการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคจำนวน 28 แห่งให้มีศัยภาพมากขึ้น สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มี และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานภูมิภาคในความรับผิดชอบของ ทย.ที่ยังไม่มีเที่ยวบินประจำให้บริการ เช่น สนามบินนครราชสีมา (โคราช), เพชรบูรณ์, หัวหิน, ปัตตานี, ตาก, แม่สะเรียง ล่าสุดได้พิจารณาเห็นว่าสนามบินโคราชมีศักยภาพและมีความต้องการในการเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.นั้น ทย.ได้ประชุมจังหวัดฯ หอการค้า ภาคเอกชนโคราช และผู้ประกอบการสายการบินไทยแอร์เอเชียและนกแอร์ในการเปิดเที่ยวบินประจำที่สนามบินโคราช โดยพิจารณาใน 2 เส้นทาง คือ นครราชสีมา-เชียงใหม่ และ นครราชสีมา-ภูเก็ต
เบื้องต้นทางจังหวัดและภาคเอกชนของโคราชรับที่จะดูแลเรื่องรถรับส่งเชื่อมเข้าสู่สนามบิน และทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่ ทย.จะประสานด้านตารางการบิน และการจัด slot กับสนามบินเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการจูงใจ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงอากาศยาน (landing fee) ตามมติของคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เป็นเวลา 5 ปี อีกด้วยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ซึ่ง ทย.ได้ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในท่าอากาศยานนครราชสีมา พร้อมดูแลเรื่องอัตราค่าเช่าพื้นที่ให้เป็นไปตามอัตราขั้นต่ำสุดตามระเบียบของกรมธนารักษ์
นายดรุณกล่าวว่า ทุกภาคส่วนพร้อมให้ความร่วมมือในการเปิดเที่ยวบินประจำที่สนามบินนครราชสีมา โดยสายการบินนกแอร์จะนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอบอร์ด ขณะที่ไทยแอร์เอเชียขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ เนื่องจากหากจะบินต้องใช้เครื่องบินใหญ่ขนาด 180 ที่นั่ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปและสามารถเปิดบินได้ในช่วง ปลายปีนี้หรือต้นปี 61 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ก่อน
"จากข้อมูลการเดินทางด้วยรถทัวร์จากโคราช-เชียงใหม่ พบว่ามีประมาณวันละ 18 เที่ยว มีผู้ใช้บริการประมาณวันละ 400 คน ขณะที่ทางจังหวัดและภาคเอกชนได้เสนอให้เปิดเที่ยวบินประจำเพื่อเชื่อมโคราชกับจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งโคราชถือเป็นจังหวัดที่มีประชากรมาก มีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทย.ได้พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารทำงานเชิงรุกในธุรกิจมากขึ้น มีการหารือร่วมกับจังหวัด ภาคธุรกิจ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาค รองรับการพัฒนาทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม และช่วยลดความแออัดของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยการเพิ่มเครือข่ายการบินเชื่อมระหว่างภูมิภาคให้มากขึ้น” อธิบดี ทย.กล่าว